รู้แล้วอย่าทำ! 6 วิธียอดแย่ในการสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวเอง
ในยุคที่ใครๆ ก็เชื่อว่า การสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นหนึ่งในบันไดสำคัญที่จะพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ แล้วคุณเชื่อหรือไม่ว่า คนเราทุกคนก็มีแบรนด์ หรือ ภาพจำที่สร้างขึ้นอย่างตั้งใจหรือบางครั้งอาจจะไม่รู้ตัวเพื่อให้คนอื่นจดจำ
สังเกตจากเวลาที่คุณต้องส่งเรซูเม่ไปสมัครงาน นั่นคือ เวลาที่คุณพยายามสร้างแบรนด์ให้กับตัวเอง ด้วยการถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือในกระดาษ และ หากได้รับเลือกให้ไปสัมภาษณ์ คุณจะทำหน้าที่ขายตัวเอง ผ่านการสร้างแบรนด์เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เลือกที่จะตอบรับคุณเข้าทำงาน
แน่นอนว่า ทุกครั้งที่คุณสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง คุณย่อมพยายามหยิบยื่นสิ่งที่ดี ภาพลักษณ์ทางบวกเพื่อส่งต่อออกไป แต่ความน่ากลัวคือ หลายครั้งคุณไม่รู้ตัวว่า กำลังสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่อภิรมย์เข้าไปในการสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวเอง กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อ ถูกปฏิเสธ หรือ ฝ่ายตรงข้ามมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คุณคาดหวังกลับมา จากนี้ คือ 6 วิธียอดแย่ในการสร้างแบรนด์ดิ้งที่ไม่ควรทำ หรือ ถ้าอ่านแล้วคุ้นๆ ว่าคุณกำลังเข้าข่ายให้รีบหาทางกำจัดด่วน
1.แต่งตั้งตัวเองว่าเป็นกูรู ผู้เชี่ยวชาญ หรือ เทพในสายนั้นๆ : การใช้ถ้อยคำที่ชวนให้รู้สึกว่าคุณกำลัง “ยกตนข่มท่าน” ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามที่คุณไม่ควรทำ แทนที่จะใช้คำนิยามเหล่านั้นมาบอกเล่าความเก่งกาจของตัวเอง ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีเล่าเรื่องเพื่อให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณเป็นกูรู ผู้เชี่ยวชาญหรือเทพในสายนั้นๆ ด้วยตัวเองจะน่าฟังกว่า
2.Zombie branding : ใช้วิธีการเล่าเรื่องที่แสนทื่อประหนึ่งว่าคุณเป็นซอมบี้ที่ไร้หัวจิตหัวใจ แถมยังสื่อสารด้วยภาษาเทคนิคที่อ่านแล้วเข้าใจยากอีกต่างหาก
3.สร้างแบรนด์ผ่านเกียรติประวัติ : บางคนเลือกที่จะสร้างความเชื่อถือผ่านประกาศนียบัตร เช่น เคยเรียนในสถาบันระดับไอวี่ ลีก (กลุ่มของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในอเมริกาที่ได้รับการยกย่องอย่างมากจากนักศึกษาจากทั่วโลก) หรือ บรรยายสรรพคุณตัวเองว่า เคยฝึกงานที่บริษัทไอทีชั้นนำแถวหน้าอย่าง แอปเปิ้ล กูเกิ้ล เพื่อหวังให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองเจ๋ง มีความสามารถ โดยหารู้ไม่ว่าในสายตาคนนอก มองว่าการสร้างแบรนด์ดิ้งในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำให้คุณดูไม่น่าสนใจเอาซะเลย เพราะเหนือกว่าใบประกาศจากสถาบันต่างๆ ที่การันตีความสามารถของคุณ สิ่งที่คนนอกอยากเห็น คือบทเรียนหรือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากแต่ละโอกาสสำคัญของชีวิตมากกว่า
4.ใช้คำว่า ที่สุด ที่หนึ่ง หรือหนึ่งเดียวมานิยามตัวเอง : ยิ่งคุณใช้คำเหล่านี้บรรยายความสามารถของตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นมือสมัครเล่นของคุณมากเท่านั้น แทนที่จะประกาศศักดาด้วยคำพูด ไม่สู้เอาผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมาพิสูจน์ให้เห็น
5.นี่คืองานของฉัน ส่วนทั้งหมดนี้คือทักษะทั้งหมดที่ฉันมี : นี่เป็นวิธีการที่แสนเศร้าในการพูดถึงตัวเอง เพราะสิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์วันนี้ ไม่ใช่การนั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตไปศึกษาสิ่งที่คุณทำมา แต่สิ่งที่ทุกสาขาอาชีพมองหานาทีนี้ คือคนที่มีความเป็นมืออาชีพและพร้อมจะก้าวไปสู่ความท้าทายใหม่ๆ ดังนั้นการเอาที่ย่ำอยู่กับที่ พูดถึงความสำเร็จแบบเดิมๆ ทักษะเก่าๆ ย่อมไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป แทนที่จะพูดถึงสิ่งที่ผ่านมา คุณควรพูดถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่คุณอยากผลักดันหรือขับเคลื่อน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าคุณมีทักษะตอบโจทย์กับงานที่ต้องการ ไม่ใช่งานอะไรก็ได้ที่คุณอาจจะมีทักษะที่จะทำได้
6.สถาปนาตัวเองเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง : คำเหล่านี้ อาจฟังดูโก้ เป็นทักษะแห่งยุคที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้นิยามตัวเองเลยสักนิด
สุดท้ายนี้ คุณจะพบว่า หัวใจของการแบรนดดิ้งตัวเองเพื่อให้คนนอกไม่รู้สึกยี้ ไม่ใช่การโอ้อวด แต่เป็นเปลี่ยนมายด์เซ็ทบางอย่างในการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง โดยไม่ต้องโฆษณาว่าเคยทำอะไรมา แค่อธิบายให้รู้ว่าคุณเป็นใครและทำอะไรได้บ้างอย่างมืออาชีพเท่านั้นพอ