เพื่อนร่วมงานเป็นพิษ เอายังไงกับชีวิตดี
Toxic energy พิษร้ายของคนทำงาน เพราะสถานการณ์แบบนี้เรียกได้ว่ามีโอกาสเจอแทบทุกเวลา ต้นตอจะเป็นอะไรไปได้ ก็สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเพื่อนร่วมงานนี่แหละที่พ่นพิษไม่หยุดหย่อน รู้ตัวอีกทีก็แสบร้อน ชีวิตปั่นป่วนไปหมดแล้ว มาทำความเข้าใจกับอาการเหล่านี้ เพื่อให้รู้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งรู้ทันตัวเองไม่ให้ทำพฤติกรรมดังกล่าว จนสร้างความเสียหายให้แก่องค์กร
ทำไมเพื่อนร่วมงานที่เต็มไปด้วย Toxic จึงเป็นตัวอันตรายในที่ทำงาน
- ใส่ใจเฉพาะเรื่องส่วนตัว (ผ่านเป้าหมายของทีมและบริษัท) โดยคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง
- ไม่มองความเป็นทีม แทงข้างหลังวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวโทษอย่างจงใจ
- นินทาและแพร่กระจายเรื่องส่วนตัวของคนอื่น
- เห็นด้วยในการประชุม แต่ไม่ทำตามหลังจากนั้น (ต่อหน้าอีกอย่าง ลับหลังทำอีกอย่าง)
- หวงความรู้ เพราะความอิจฉา
และดูเหมือนว่าปัญหาจะมีมากกว่าที่คิดเพราะพวกเขามักจะมีพฤติกรรมอื่นๆที่สร้างความวุ่นวายให้องค์กร และทำให้เพื่อนร่วมงานปวดหัวไม่จบไม่สิ้น ไม่ว่าจะเป็น.. .
สร้างกระแสดราม่าโดยไม่จำเป็น
แทนที่จะเปิดเผยและพูดในสิ่งที่เป็นปัญหา แต่พวกเขาชอบกลับชอบแสดงออกด้วยการนำพลังบวกและความคิดสร้างสรรค์ออกจากทีม คนในทีมจึงเสียเวลาทำงานไปโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อต้องคิดและวางแผนใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทำให้ทีมมีปัญหา
พฤติกรรมที่ไม่ดีของเหล่าเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา ทำให้เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆดูแย่ไปด้วย จากการศึกษาพบว่า ทีมที่มีความซื่อสัตย์ ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของที่ทำงาน จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าทีมที่มีปัญหาภายใน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความไม่มีประสิทธิภาพของทีมมีความเกี่ยวเนื่องอย่างมากกับภาพลักษณ์และผลลัพธ์
บ่อนทำลายคุณค่าของบริษัทและผู้นำภายในองค์กร
เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาเหล่านี้มักมีพฤติกรรมก่อให้เกิดการถากถางน้ำใจกันเองภายในองค์กร และปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานอย่างไม่เท่าเทียมจนทำให้มีปัญหาต่างๆตามมามากมาย
ก่อให้เกิดความร้าวฉานของสัมพันธภาพ
มักจะหาโอกาสทำร้ายเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะนินทาลับหลัง ผลักเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆออกจากทีมเมื่อมีโอกาส พยายามสร้างเรื่องเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมโดนเจ้านายเรียกพบ หรือสร้างสถานการณ์แย่ๆบ่อยๆ
คุณจะทำอย่างไรถ้าบุคคลที่เป็นพิษคือเพื่อนร่วมงานคนสนิทของคุณ หลายๆคนบอกว่าพวกเขาไม่มีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนตัวเอง ทำให้พวกเขาบางคนตัดสินใจจบชีวิตการทำงาน โดยการออกจากทีมหรือบริษัท หลังจากไม่สามารถทนกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปแล้ว
"อย่าเพิ่งหมดหวัง #ทางที่ดีกว่าเมื่อต้องรับมือกับเพื่อนร่วมงานเป็นพิษอยู่นี่แล้ว"
ใช้ความจริงเข้าสู้
พยายามพูดคุยอย่างเปิดใจกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาของคุณ และถ้าคุณไม่พยายามที่จะทำสิ่งพวกนี้ คุณจะไม่สามารถคงสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงานได้เลย คุณจะไม่สามารถเหมาเอาว่าคนที่มีปัญหากับคุณนั้น เขาจะตื่นมาแล้วตระหนักถึงนิสัยไม่ดีของตนเอง ดังนั้นพยายามพูดคุยกันอย่างเปิดอก โฟกัสไปที่พฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อคุณ และถามFeedback จากคนอื่นที่มีต่อคุณเช่นกัน เพราะบางคนอื่นก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมของพวกเขานั้นจะส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร
เล่นเกมให้เป็น
อย่ายอมโดนเอาเปรียบ จงเล่นเกมและตอบโต้พวกเขาอย่างชาญฉลาด โดยกำหนดเป้าหมายของทีม พร้อมทั้งรักษามาตรฐานผลงานให้มีคุณภาพเสมอ และพูดคุยเพื่อหาทางออกกับทีมที่สามารถช่วยเหลือคุณได้ คุณไม่ได้ทำงานคนเดียวหรอกนะจำไว้
บางอย่างต้องถึงมือหัวหน้า
แจ้งให้หัวหน้าของคุณทราบล่วงหน้าว่าทีมของคุณนัดประชุมเพื่อกำหนดบรรทัดฐานของทีม พร้อมทั้งเริ่มจัดการกับพฤติกรรมและความขัดแย้งภายในทีมที่เกิดขึ้น ควรเป็นการจัดการที่โปร่งใส มีการแจ้งให้สมาชิกในทีมรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ไม่อยากแพ้ ดูแลตัวเองดีๆ
อย่าปล่อยให้พฤติกรรมร้ายๆอาบไปด้วยยาพิษจนส่งผลเสียต่ออารมณ์และสุขภาพของคุณ หัดวางเฉยกับอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ ทำเป็นมองข้ามมันเสียบ้าง และถ้าคุณต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสัมพันธ์ของคุณและเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาเหล่านี้ ทางเราขอแนะนำให้คุณปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ที่มีอำนาจพอที่จะตัดสินใจ จะเป็น HR ก็ได้ หรือจะหัวหน้าแผนกก็ดี แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าทำทุกอย่างจนหมดแล้ว พิจารณาเรื่องลาออกเถอะ เพราะชีวิตมันสั้นเกินกว่าจะอยู่กับงานที่ทำให้ชีวิตคุณแย่ลง
เข้าใจว่าการอยู่ในบรรยากาศหรือกับเพื่อนร่วมงานที่เต็มไปด้วยพิษร้าย ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่การกล้าเผชิญหน้ากับปัญหา เอาชนะด้วยการให้อภัย ไม่ป่าวประกาศให้คนอื่นรู้ อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้าในกรณีที่เตือนไปแล้ว แต่ได้รับท่าทีที่ไม่พอใจ สิ่งที่ดีที่สุดคือ Move on และปล่อยเขาไป ซึ่งการทำลักษณะนี้ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่แคร์ แต่เพราะคุณรู้ตัวเองว่าอยากมีความสุข และอยากให้เขามีความสุขต่างหาก “เลือกที่จะอยู่กับคนที่ให้พลังบวกมากกว่าที่จะอยู่กับคนที่ไม่ยอมเปิดรับฟังความเห็นเราดีกว่า”
ขอบคุณข้อมูลจาก www.workventure.com