ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้เห็นความสำคัญของการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศด้วย “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  โดยข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2557 มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 13.18% ของ GDP ซึ่งกลุ่มอุตฯสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง 3 อันดับแรก คือ แฟชั่น ,การออกแบบ และแพร่ภาพกระจายเสียง

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า โอกาสของการเสริมศักยภาพ ยกระดับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงร่วมมือกับ “สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Indonesia Creative Economy Agency หรือ Badan Ekonomi Krestif : BEKRAF) ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “ความร่วมมืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย-อินโดนีเซีย” เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใน 3 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศในด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2. ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ 3. สนับสนุนให้เกิดความเข้าใจและการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศในด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการจัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมนักสร้างสรรค์ของทั้งสองประเทศให้มีโอกาสต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสองประเทศต่อไป

    

นายเตรียวัน มูนาฟ ประธานสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กล่าวว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ของซีอีเอ อาทิ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week: CMDW) เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ผ่านการจัดแสดงผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ทั้งในรูปแบบชิ้นงานคราฟท์ที่ผสมผสานแนวคิด เทคนิคต่างๆ ของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ หรือชิ้นงานที่ผสมผสานองค์ความรู้จากหลากหลายสาขา และกลุ่มบุคคลนักออกแบบได้อย่างลงตัว สู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่ช่วยยกระดับคุณภาพสังคม และสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ทั้งนี้  อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถก้าวข้ามอุปสรรคด้านภูมิศาสตร์ของการเป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ สู่การเป็นแหล่งบ่มเพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของโลก ที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นถึง 4 ราย ได้อย่างมีศักยภาพ 

จากข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่เป็นหมู่เกาะ และการกระจุกตัวของรายได้ในบางพื้นที่ จึงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการวางกรอบนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งเร่งปรับโครงสร้างวางรากฐานการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญของอินโดนีเซีย (Palapa Ring) ที่ต้องดำเนินงานภายใต้ภารกิจเดียวกัน การพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม 4 จี การกำหนดยุทธศาสตร์ตลาดอีคอมเมิร์ซ และการก่อตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย” เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม

 

จากการปรับโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ธุรกิจในอินโดนีเซียประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างยูนิคอร์นตัวแรกของอินโดนีเซีย “GO-JEK” แพลตฟอร์มเรียกรถแทกซี่และรถจักรยานยนต์ สตาร์ทอัพรายแรกที่กล้ากระโดดลงมาจับลู่ทางธุรกิจที่ท้าทายปัญหาการจราจรคับคั่งติดอันดับโลก ที่สามารถขยายตลาดสู่สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย จนก้าวสู่บริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีอีกหลายบริษัทตบเท้าสู่สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ Traveloka Tokopedia และ Bukalapak โดยปัจจุบันจีดีพีของอินโดนีเซียเติบโตอย่างก้าวกระโดด และได้รับการจัดอันดับจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอันดับที่ 8 ของโลก ที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศกว่า 3,028 ล้านเหรียญสหรัฐภายใน 3ปี และยังคาดการณ์อีกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะก้าวสู่อันดับที่ 4 ในอีก 30 ปีข้างหน้า 

ขอบคุณข้อมูล จาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)