บางคนคิดว่าอาการเจ็บคอเกี่ยวข้องกับคออักเสบ จึงหา “ยาแก้อักเสบ” มากิน โดยหารู้ไม่ว่า “ยาแก้อักเสบ” นั้นที่แท้คือยาปฏิชีวนะ ที่มีประโยชน์ในการบำบัดโรคติดเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ในการแก้อักเสบที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ แต่อย่างใด การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ในระยะยาวยังอาจเกิดโทษต่อร่างกาย เช่น ส่งเสริมให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา การแพ้ยา การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บคอ

1.กรณีเจ็บคอร่วมกับมีไข้

          - คออักเสบจากเชื้อไวรัส/ไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอเล็กน้อย ตรวจดูภายในลำคอ ไม่พบว่ามีทอนซิลโตและผนังคอหอยไม่มีลักษณะอักเสบ (คือไม่พบว่ามีสีแดงกว่าปกติ) ในกรณีที่เป็นไข้หวัด จะมีอาการเจ็บคอในลักษณะดังกล่าวในวันแรกๆ และต่อมาเมื่อมีอาการน้ำมูกไหล อาการเจ็บคอมักจะทุเลาไปเอง

          - ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนลำบาก ตรวจดูภายในลำคอพบทอนซิลบวมโต ออกสีแดงจัดและอาจมีจุดหนองอยู่บนทอนซิล

2.กรณีเจ็บคอโดยไม่มีไข้

          - โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย และมักมีอาการคันคอ คันจมูก จาม น้ำมูกใสๆร่วมด้วย เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร อากาศเย็น เป็นต้น มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

          - การระคายเคือง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย เวลาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เป็นต้น เมื่อละเว้นจากสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ทุเลาไปเอง

          - แผลร้อนใน (แผลแอฟทัส) เมื่อเกิดขึ้นที่คอหอย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคออย่างมาก จนกลืนและพูดลำบาก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บทั่วลำคอ แต่สามารถบอกชี้ได้ว่ามีจุดที่เจ็บตรงไหนได้ชัดเจน อาการเจ็บจะเป็นมากที่สุดใน 3-4 วันแรก หลังจากนั้นจะเจ็บน้อยลง และค่อยๆทุเลาไปได้เองภายใน 7-10 วัน

          - โรคกรดไหลย้อน มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (ส่วนน้อยอาจพบในวัยหนุ่มสาว) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า อาจมีอาการเสียงแหบหรือไอร่วมด้วย พอสายๆ ก็ทุเลาไป มักเป็นทุกวัน เรื้อรังเป็นแรมเดือน หรือจนกว่าได้รับการบำบัดรักษา บางคนอาจมีอาการเจ็บลิ้นปี่หลังกินอาหารร่วมด้วย

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บคอ สามารถปฎิบัติตัวดังนี้

1. ควรไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

          - มีไข้สูง และเจ็บคอมาก

          - มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว

          - มีอาการเจ็บคอทุกวันเกิน 1 สัปดาห์

          - คลำได้ก้อนแข็งที่ข้างคอ

2. หากไม่มีอาการดังในข้อ 1 ควรให้การดูแลเบื้องต้นดังนี้

          - งดดื่มเหล้า และบุหรี่

          - หากมีน้ำมูกใสหรือมีอาการของโรคภูมิแพ้ ให้กินยาแก้แพ้-คลอร์เฟนิรามีน

          - หากมีไข้หรือเจ็บคอมาก ให้กินพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง

          - กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือป่น 1 ช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว วันละ 2-3 ครั้ง

          - หากไม่ทุเลาใน 4 วัน ควรไปพบแพทย์


ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th