เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและผลงานที่สำคัญ ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษคู่แผ่นดินไทย ผู้ที่ได้รับยกย่องว่ามีผลงานสำคัญในการผลักดันนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ซึ่งนำไปสู่การออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 กำหนดนโยบายและปรับท่าทีในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้แปรพักตร์ ทำให้นักศึกษาที่หลบหนีเข้าป่าภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 กลับออกจากป่า

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เปรม ติณสูลานนท์ (26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) บุคลิกส่วนตัวพลเอกเปรมเป็นคนพูดน้อย ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนน้อยมาก จนถูกหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นเรียกขานว่า เตมีย์ใบ้ และได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากเหตุการณ์กบฏเมษาฮาวายและกบฏ 9 กันยา หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

โดยพลเอกเปรม รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2520 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2522

ในช่วงนั้น พลเอกเปรมได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอกเปรมในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ

การดำเนินการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุดพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งดังกล่าวเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 ใจความสำคัญคือ ใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และ "ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม" คำสั่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลก่อนหน้ามาสู่การประนีประนอม อย่างไรก็ตามการปฏิบัติให้เป็นผลนั้นกินระยะเวลาหลายปี

อีกหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ คือ  “กบฏเมษาฮาวาย” หรือที่เรียกอีกกันในอีกชื่อว่า “กบฏยังเติร์ก” เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 เมษายน - 3 เมษายน พ.ศ. 2524 เพื่อยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือที่เรียกว่ารุ่น ยังเติร์ก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9),พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

สาเหตุของการก่อกบฏครั้งนี้ ถูกระบุว่ามาจากความไม่พอใจของพลเอกสัณห์ที่มีต่อพลเอกเปรม เนื่องจากทางกองทัพบกได้มีการต่ออายุราชการให้กับพลเอกเปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ออกไปอีก 1 ปี ทำให้พลเอกสัณห์ในฐานะรองผู้บัญชาการทหารบกหมดสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกจึงได้รวบรวมนายทหารสาย จปร.7 ก่อการในครั้งนี้

คณะผู้ก่อการได้เริ่มก่อการเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกแถลงการณ์คณะปฏิวัติ มีใจความว่า

“เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหว จะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน”

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

พร้อมกับได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา ถอดถอนคณะรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง พร้อมกับ "เปิดเพลงปลุกใจ" ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตลอดเวลา

ขณะที่ตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมีการตั้งบังเกอร์ กระสอบทราย และมีกำลังทหารพร้อมอาวุธรักษาการณ์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งมีการอัญเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาเป็นสัญลักษณ์ด้วย

ทางฝ่ายรัฐบาล โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 โดยารตอบโต้กลับของทางรัฐบาล เริ่มต้นด้วยการโดยส่งเครื่องบินเอฟ-5อี บินเข้ากรุงเทพเพื่อสังเกตการณ์ พร้อมกับเคลื่อนกำลังพล ทหารทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันเล็กน้อย มีทหารฝ่ายก่อการเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย มีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างละ 1 คน

ที่สุด การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 3 เมษายน เมื่อฝ่ายก่อการเข้ามอบตัวกับทางรัฐบาลรวม 155 คน นับเป็นเวลา 55 ชั่วโมงตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนจบ

ขณะที่แกนนำฝ่ายผู้ก่อการหลบหนีออกนอกประเทศ โดยพันเอก มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศพม่า ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ 52 คน ซึ่งเป็นระดับแกนนำ เนื่องในวโรกาสวันฉัตรมงคล ได้รับนิรโทษกรรม และได้รับการคืนยศทางทหารในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ต่อมาคณะนายทหารเหล่านี้นำธูปเทียนไปขอขมาพลเอกเปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศน์ บ้านพัก ในวันที่ 22 มิถุนายน ขณะที่พลเอกสัณห์ เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยแล้ว หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ และได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ

อนึ่ง การกบฏครั้งนี้ มีจำนวนกำลังทหารเข้าร่วมมากถึง 42 กองพัน ถือได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีบางข้อมูลระบุว่า ในเย็นก่อนเกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว ทางหนึ่งในฝ่ายผู้ก่อการ คือ พันเอกประจักษ์ได้เข้าพบพลเอกเปรมถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วม โดยให้เป็นหัวหน้าคณะและจะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ เพื่อขจัดอิทธิพลของนักการเมือง แต่พลเอกเปรมไม่ตอบรับ พร้อมกลับเข้าบ้านพักและหลบหนีออกไปได้ บางแหล่งระบุว่าพล.อ.เปรม กระโดดออกทางหน้าต่างด้วยซ้ำ!!

เมื่อการกบฏสิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีการต่อสู้กัน โดยเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วเสมือนฝันหรือเป็นการแสดง ประจวบกับเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนตรงกับวันเอพริลฟูลส์ ซึ่งตามธรรมเนียมชาวตะวันตกถือเป็นวันที่ผู้คนโกหกใส่กันได้ จึงได้อีกชื่อนึงในเชิงเหยียดหยันจากสื่อมวลชนว่า “กบฏเมษาฮาวาย” ในเวลาต่อมา ภายหลังเหตุการณ์ พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญคุมกำลังทหารต่อต้าน ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา

 

กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา

กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา หรือ กบฏสองพี่น้อง เป็นอีกหนึ่งความพยายามรัฐประหารในยุคที่พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอก มนูญกฤต รูปขจร (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า มนูญ รูปขจร) นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร,พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอก เสริม ณ นคร พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พลอากาศเอก กระแส อินทรรัตน์ พลตรี ทองเติม พบสุข พันเอก ประจักษ์ สว่างจิต พันเอก สาคร กิจวิริยะ ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง อาทิ เอกรัฐ ษรารุรักษ์ และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน อาทิ นาย สวัสดิ์ ลูกโดด นาย ประทิน ธำรงจ้อย โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก เอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฏครั้งนี้พยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

การกบฏครั้งนี้ยังถือเป็นการใช้ความพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า "กบฏ" อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเป็นความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งสุดท้าย ภายหลังความล้มเหลวในการก่อการของกบฏยังเติร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2524

เริ่มต้นเหตุการณ์

การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนามพลเอก เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จับกุม พลอากาศเอก ประพันธ์ ธูปะเตมีย์

ฝ่ายนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งเป็นพลเรือน ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่งและผู้นำสหภาพแรงงานเข้ายึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย[3]

ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วยพลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลโท ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอก ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เขตบางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วยพลโท สุจินดา คราประยูร พลโท อิสระพงศ์ หนุนภักดี และพลอากาศโท เกษตร โรจนนิล รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีและพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว และยกเลิกในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ . 2528 เวลา 18.00 น.

เมื่อเวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นีล เดวิสชาวออสเตรเลีย และบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้นและมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดยพลโท พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.

ส่วนพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันที

เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พันเอก มนูญ รูปขจร และนาวาโท มนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปประเทศสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน

ทั้งนี่เชื่อกันว่าเบื้องหลังการยึดอำนาจครั้งนี้ พันเอก มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดเท่านั้น เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจนำออกมาสมทบในภายหลัง และการก่อการครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากมีใครบางคนที่ "นัดแล้วไม่มา"

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันพระปกเกล้า และ วิกิพีเดีย