เจฟฟรีย์ แซคส์ อาจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความแสดงความเห็นลงสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ในหัวข้อ “จีนไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐแต่ประเด็นหลักคือ ความโลภของภาคธุรกิจ” China is not the source of our economic problems — corporate greed is

เจฟฟรีย์ แซคส์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่า จีนไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเพียงประเทศหนึ่งที่พยายามยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ผ่านการศึกษา การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยี หรือหากจะพูดสั้นๆ ก็คือ จีนกำลังทำในสิ่งที่ทุกประเทศต้องทำเมื่อเคยอยู่ในภาวะยากจนมาก่อนและยังห่างไกลจากความเป็นประเทศมหาอำนาจอีกมาก แต่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีเป้าหมายที่จะหยุดยั้งการพัฒนาของจีน ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งสหรัฐฯ และโลกโดยรวม

เจฟฟรีย์ แซคส์ ยังมองว่า จีนกลายเป็นแพะรับบาปสำหรับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ ในช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังให้ประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย แรงงานของสหรัฐฯ บางกลุ่มถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะโรงงานในย่านมิดเวสต์ที่แรงงานประสบกับการแข่งขัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนค่าแรงที่ต่ำโดยเปรียบเทียบในจีน แม้ว่ากำลังเพิ่มขึ้น

ศาตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์
ที่มาภาพ: https://ias.unu.edu/en/news/news/integrating-sustainability-into-sdgs.html

“แทนที่จะโยนความผิดให้กับจีนสำหรับปรากฏการณ์การแข่งขันทางตลาดที่ปกตินี้ เราควรที่จะเก็บภาษีจากกำไรธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทข้ามชาติของเราเอง และนำรายได้ภาษีนั้นมาช่วยเหลือครัวเรือนที่เป็นชนชั้นแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมโทรมจากการใช้งานมานาน ส่งเสริมทักษะการทำงานแบบใหม่ และลงทุนในวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ” บทความระบุ

“เราต้องเข้าใจว่าจีนเพียงแค่พยายามที่ชดเชยเวลาที่เสียไปจากการถอยหลังเป็นเวลานานด้วยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ” เจฟฟรีย์ แซคส์ ระบุพร้อมกับให้ข้อมูลประวัติศาตร์ย้อนหลังเพื่อเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ในปี 1839 อังกฤษโจมตีจีนเนื่องจากจีนปฏิเสธที่จะอนุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษขายฝิ่นซึ่งเป็นสารเสพติดให้กับชาวจีนอีกต่อไป แต่อังกฤษยังคงไม่ยอมและแข็งกร้าว ส่งผลให้จีนพ่ายแพ้ด้วยความอัปยศในสงครามฝิ่นครั้งแรกที่สิ้นสุดลงในปี 1842 และยังเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของการลุกฮือต่อต้านราชวงศ์ชิง หรือที่เรียกกันว่า กบฏไท่ผิง (ซึ่งเป็นกบฏที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ล้านคน ขณะที่สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ซึ่งจีนต่อสู้กับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส นำไปสู่การถดถอยทางอำนาจของจีนและการไร้เสถียรภาพภายในประเทศ

ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 จีนแพ้สงครามจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ของญี่ปุ่น และกลายเป็นเป้าหมายของการเรียกร้องจากฝ่ายเดียว จากยุโรปและสหรัฐฯ ในด้านการค้า ซึ่งความอัปยศนี้นำไปสู่การลุกฮือก่อการปฏิวัติรอบใหม่ แต่จีนก็พ่ายแพ้อีกครั้ง ในเงื้อมมือของมหาอำนาจต่างประเทศ

ราชวงศ์ชิงของจีนล่มสลายในปี 1911 หลังจากที่จีนยอมจำนนยกอำนาจให้ผู้มีอิทธิผลทางทหาร เกิดเหตุจลาจลในประเทศ และการรุกรานของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในปี 1931 สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สิ้นสุดลงแต่กลับตามมาด้วยสงครามกลางเมือง มีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ต่อมายังเกิดปัญหาการลุกฮือของผู้นับถือลัทธิเต๋า รวมไปถึงการเสียชีวิตของผู้คนจำนวนนับล้านคนจากการอดอยาก เนื่องจากขาดแคลนอาหารจากนโยบายก้าวกระโดดไกล (Great leap Forward) ซึ่งสิ้นสุดลงในช่วงแรกของทศวรรษ 1960 ตลอดจนความไม่มั่นคงทางการเมืองจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงปี 1977

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนจากพื้นฐานระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงเริ่มต้นขึ้นในปี 1978 เมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจและประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (จากระบบเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดด้วยนโยบาย 4 ทันสมัยหรือ Four Modernizations) ขณะที่จีนมีการเติบโตอย่างสูงในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ก็ยังทิ้งร่องรอยมรดกที่เกิดขึ้นมาร่วมศตวรรษ ทั้งความยากจน ความไร้เสถียรภาพ การรุกรานและการข่มขู่ของต่างชาติ ให้เห็นอย่างเด่นชัด

ผู้นำจีนต้องการที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องในครั้งนี้ และนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่เต็มใจที่จะก้มหัวให้กับสหรัฐฯ หรือประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกอีกแล้ว

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก เมื่อวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic produc – GDP)ในราคาตลาด แต่ก็ยังประเทศที่อยู่ในขั้นตอนของการก้าวให้ทันหลังจากหลุดพ้นความยากจน ในปี 1980 ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (international monetary fund – IMF) พบว่า GDP ต่อหัวของประชากร (GDP per capital) ในจีนอยู่ในระดับเพียง 2.5% ของสหรัฐฯ แต่ปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 15.3% ของระดับ GDP per capital ของสหรัฐฯ

เมื่อวัด GDP จากทฤษฎีความเสมอภาคของอำนาจซื้อโดยเปรียบเทียบ (purchasing power parity) โดยใช้ชุดราคาระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์ เพื่อวัดมูลค่า GDP ของทุกประเทศ พบว่า รายได้ประชากรต่อหัวของจีนในปี 2018 อยู่ที่ 28.9% ซึ่งสูงกว่าสหรัฐฯ เล็กน้อย

จีนมียุทธศาสตร์พัฒนาไม่ต่างจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จากมุมมองทางเศรษฐกิจแล้ว จีนซึ่งเป็นประเทศที่กำลังก้าวตามให้ทัน ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดแปลกไปจากปกติ


การที่สหรัฐฯ ดำเนินการอย่างสม่ำเสมอในการหยุดยั้งการขโมยเทคโนโลยีของจีนนั้นเป็นการกล่าวหากันง่ายเกินไป

หลายประเทศที่ยังล้าหลังได้ยกระดับเทคโนโลยีในหลายด้าน ทั้ง การศึกษา การเลียนแบบ (imitation) การซื้อ การรวมกิจการ การลงทุนจากต่างประเทศ มีการใช้ความรู้ทางสิทธิบัตรอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่า มีการลอกเลียน (copying) และโดยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงเกิดความขัดแย้งทางทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้แต่ในกลุ่มบริษัทสหรัฐฯ ด้วยกันเองในปัจจุบัน การแข่งขันในลักษณะนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ผู้นำด้านเทคโนโลยีเองตระหนักดีกว่าไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำด้วยการคุ้มครองอย่างเดียว แต่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯ เองก็นำเทคโนโลยีของอังกฤษมาประยุกต์ใช้อย่างมาก และเมื่อต้องการปิดช่องว่างด้านเทคโนโลยีก็ได้สรรหาความรู้หรือโนว์-ฮาวจากต่างประเทศ


โครงการขีปนาวุธข้ามประเทศหรือ ballistic missile program ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็พัฒนาขึ้นจากความช่วยเหลือของอดีตนักวิทยาศาสตร์ด้านจรวดของนาซีเยอรมัน ที่สหรัฐฯ จ้างให้เข้าทำงานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


หากจีนเป็นประเทศเอเชียซึ่งเป็นที่รู้จักและชื่นชอบน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ และมีพลเมืองมากกว่า 50 ล้านคนเล็กน้อย ก็จะได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ที่จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนา


แต่ที่เป็นประเด็นคือ จีนใหญ่มาก และจีนก็ปฏิเสธการอ้างสิทธิในการปกครองโลกของสหรัฐฯ สหรัฐฯ เองมีประชากรเพียง 4.2% ของประชากรโลก ไม่ถึง 1 ใน 4 ของประชากรจีน


ความจริงก็คือว่า ไม่มีประเทศไหนอยู่ในสถานะที่จะชี้นำโลกได้ในทุกวันนี้ เพราะเทคโนโลยีและโนว์-ฮาวได้กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกมากกว่าที่เคย


การค้ากับจีนทำให้สหรัฐฯ มีสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ต่ำมากและเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นด้วย รวมทั้งยังมีผลให้มีการตกงานในภาคธุรกิจที่แข่งขันโดยตรงกับจีน เช่น ภาคการผลิต แต่นั่นคือวิถีของการค้า

การกล่าวหาจีนว่าค้าขายอย่างไม่เป็นธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บริษัทอเมริกันจำนวนมากที่ทำกำไรมหาศาลจากการผลิตสินค้าในจีนและส่งออกจากจีน ผู้บริโภคอเมริกันเองก็พอใจกับมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากสินค้าราคาถูกจากจีน

สหรัฐฯ กับจีนควรที่จะเจรจาและพัฒนาปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าทั้งการค้าแบบทวิภาคีและพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะทำสงครามการค้าด้วยการข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งและการกล่าวหากันและกัน

บทเรียนพื้นฐานจากทฤษฏีทางการค้า แนวปฏิบัติ และนโยบาย ไม่ใช่การหยุดการค้าขาย ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานความเป็นอยู่ที่แย่ลง วิกฤติทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้ง

ในทางกลับกัน เราต้องแบ่งปันผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ที่ได้ผลประโยชน์สามารถชดเชยให้กับผู้เสียประโยชน์ได้

ภายใต้ทุนนิยมอเมริกัน ซึ่งหันเหไปจากจิตวิญญานความร่วมมือของยุคสู่ความหวังใหม่ (New Deal) เป็นเวลานาน ปัจจุบันผู้ชนะปฏิเสธการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างตรงไปตรงมา และผลที่เกิดขึ้นจากการไม่แบ่งปันก็คือ การเมืองอเมริกันจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการค้า ความโลภจึงชี้นำนโยบายสหรัฐฯ อย่างเบ็ดเสร็จ

การสู้รบที่แท้จริงไม่ใช่กับจีน แต่เป็นการต่อสู้กับบริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ ซึ่งหลายรายติดอันดับจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน แต่กลับไม่ได้จ่ายค่าแรงที่เหมาะสมให้กับแรงงาน


ผู้นำธุรกิจอเมริกันและคนรวยต่างผลักดันให้มีการลดภาษี เพิ่มอำนาจการผูกขาดและการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และอื่นๆ ที่จะทำกำไรให้สูงขึ้น ขณะที่ไม่ยอมรับนโยบายใดก็ตามที่จะช่วยให้สังคมอเมริกันเสมอภาคมากขึ้น

ประธานาธิบดีทรัมป์โจมตีจีน ด้วยความเชื่อที่ว่าจีนจะก้มหัวให้กับอำนาจตะวันตกอีกครั้ง รวมทั้งตั้งเป้าที่จะบดขยี้บริษัทที่ประสบความสำเร็จ อย่างหัวเว่ย ด้วยการเปลี่ยนแปลงกติกาการค้าระหว่างประเทศอย่างฉับพลันและทำอยู่ฝ่ายเดียว

จีนเล่นตามกติกาของตะวันตกมาตลอด 40 ปีนี้ แต่ก้าวทันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในแนวทางเดียวกับชาติเอเชียอื่นซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้สหรัฐฯ พยายามที่จะทำให้จีนเกิดความสูญเสียและเกิดความชะงักงันด้วยการเปิดสงครามเย็นครั้งใหม่

หากว่ายังไม่มีความคิดที่ดีกว่านี้ เราจะนำตัวเองไปสู่ความขัดแย้งกับจีน อย่างแรก ในด้านเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการเมืองระหว่างประเทศ และทางทหาร และสร้างความเสียหายให้กับทุกคน ไม่มีใครเป็นผู้ชนะจากความขัดแย้ง

เรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางความตื้นเขินและการคอร์รัปชันทางนโยบายการเมือง สงครามการค้ากับจีนไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเรา ในทางกลับกัน เราต้องมีแนวทางกับการดำเนินการในประเทศ ทั้งโครงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงขึ้น โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น และการจัดการกับความโลภของภาคธุรกิจ

ภายใต้กระบวนการนี้ เราจะได้เรียนรู้ว่า เราจะได้มากกว่าผ่านความร่วมมือจากจีน แทนการยั่วยุและการปฏิบัติอย่างไม่ธรรม

รู้จัก เจฟฟรีย์ แซคส์

ศาตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์กับ บัน คี-มูน อดีตเลขาธิการองค์สหประชาชาติ ที่มาภาพ:
https://www.earth.columbia.edu/articles/view/3182

ข้อมูลจาก เว็บไซต์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า เจฟฟรีย์ แซคส์ มีความสนใจในด้านความสัมพันธ์ของการค้าระหว่างประเทศกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ภาวะที่ประชากรของประเทศซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรมีคุณภาพความเป็นอยู่ดีกว่าประเทศที่ไม่ค่อยมีทรัพยากรและอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร, ด้านสาธารณสุข, ประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ, ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ, ยุทธศาสตร์การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ, ตลาดการเงินระหว่างประเทศ, นโยบายเศรษฐกิจมหภาค, ความสามารถในการแข่งขันระดับโลก, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, บทบาทของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการขจัดความยากจน

เจฟฟรีย์ ดี. แซคส์ เป็นศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นที่ปรึกษาอาวุโสขององค์การสหประชาชาติ เขียนหนังสือที่มียอดขายสูง และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารรายเดือนหลายฉบับในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นรับรางวัลร่วมในการมองรางวัล Blue Planet Prize ปี 2015 รับรางวัลผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับการเสนอชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิผลจากนิตยสารไทม์ถึง 2 ครั้ง

ในช่วงปี 2002-2016 ศาสตราจารย์แซคส์ได้รับตำแหน่ง Earth Institute แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งในช่วงนี้ได้นำนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กว่า 850 คนและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของทั้งองค์กรมารวมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีบทบาทในการบรรจุหลักสูตรด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านเป้าหมาย 17 ข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบัน คีมูน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเป็นที่ปรึกษาของ โคฟี่ อันนัน อดีตลขาธิการองค์การสหประชาชาติด้าน Millennium Development Goals

ศาสตราจารย์แซคส์มีชื่อเสียงในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก และการขจัดความยากจน โดยงานด้านขจัดความยากจน การเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้กระจายไปกว่า 125 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้เป็นที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพียงรายเดียวของพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ในการจัดทำพระสมณสาสน์ครบรอบ 100 ปี หรือ encyclical Centesimus Annus ปัจจุบันยังทำงานร่วมกับสภาวิทยาศาสตร์แห่งองค์พระสันตะปาปา (Pontifical Academy of Sciences) และสภาสังคมศาสตร์แห่งองค์พระสันตะปาปา (Pontifical Academy of Social Sciences)

ก่อนมารับหน้าที่กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 2002 ศาสตราจารย์แซคส์มีประสบการณ์กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาร่วม 20 ปี

ศาสตราจารย์แซคส์เกิดในปี 1954 ที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมจากฮาร์วาร์ด ในปี 1976 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในปี 1978 และ 1980 ตามลำดับ

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org