“พาณิชย์” เกาะติดข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-อียู
11 ก.ค. 2562 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศร่างรายการสินค้าที่สหรัฐฯ เตรียมจะขึ้นภาษีตอบโต้สหภาพยุโรป (อียู) ในกรณีสหรัฐฯ ยื่นฟ้องอียูในองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2547 และมีคำตัดสินเมื่อปี 2561 อนุญาตให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้อียูได้ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินของอียู โดยเฉพาะบริษัท แอร์บัส เช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาโรงงานผลิต จัดหาเงินทุนสำหรับการออกแบบและพัฒนาเครื่องบิน เป็นต้น เข้าข่ายเป็นการอุดหนุนส่งออกที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO และก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสหรัฐฯ ทำให้อียูต้องยกเลิกมาตรการ แต่อียูยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสิน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีสิทธิใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูได้
ทั้งนี้ เดิมสหรัฐฯ กำหนดรายการสินค้าจำนวน 317 รายการในประกาศเพื่อเตรียมตอบโต้อียู เช่น ตัวถังเครื่องบินโดยสาร ชิ้นส่วนประกอบ เครื่องบินจากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ตลอดจนชีส โยเกิร์ต น้ำมันมะกอก ผลไม้ บรั่นดีองุ่น เป็นต้น และล่าสุดได้เพิ่มเติมรายการสินค้าอีก 89 รายการ เช่น เนื้อหมู ชีส มะกอก วิสกี้ และท่อเหล็ก รวมมูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจะเปิดให้แสดงความเห็นในเดือนส.ค.2562 ในสินค้า 89 รายการ ซึ่งเป็นรายการใหม่ จากนั้นจะเสนอให้อนุญาโตตุลาการ WTP พิจารณาเห็นชอบระดับความเหมาะสมและมูลค่ามาตรการที่จะใช้ตอบโต้ต่อไป แต่ USTR ระบุว่าหากอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดก่อนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้น ก็จะดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าตามรายการเดิมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐทันที โดยคาดว่าอนุญาโตตุลาการ WTO จะเผยแพร่ผลการพิจารณาในเดือนก.ย.2562
ส่วนอียู ได้มีการประกาศร่างรายการสินค้าที่จะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกันเมื่อเดือนเม.ย.2562 ที่ผ่านมา เช่น ซอสมะเขือเทศ ถั่ว น้ำส้ม ช็อกโกแลต และวอดก้า มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการตัดสินของ WTO เมื่อปี 2555 ที่อียูยื่นฟ้องสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะบริษัท โบอิ้ง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบินของอียู ซึ่งปัจจุบันอียูอยู่ระหว่างรอคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับระดับของการตอบโต้ทางการค้าที่เหมาะสมเพื่อจะตอบโต้สหรัฐฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO เช่นกัน
“หาก 2 มหาอำนาจขึ้นภาษีตอบโต้ทางการค้ากันจริงตามที่ประกาศไว้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และประเทศต่างๆ เนื่องจากรูปแบบการผลิตสินค้าในปัจจุบันมีหลายรายการที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่การผลิต ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาหาทางออกของปัญหาระหว่างกันได้หรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงทางการค้าและปรับตัวได้ทัน”นางอรมนกล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่า กรณีพิพาทระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นการตอกย้ำความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมและความเท่าเทียม โดยประเทศสมาชิก WTO จำเป็นต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากการละเมิดข้อผูกพันหรือพันธกรณีของ WTO อาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เพื่อให้คณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ของ WTO ตัดสิน และอาจมีผลสืบเนื่องไปถึงการอนุญาตให้ตอบโต้ทางการค้า เช่น การขึ้นภาษีสินค้าสำคัญ หากผู้แพ้คดียังคงยืนกรานไม่ปฏิบัติให้สอดคล้องกับคำตัดสิน ก็จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจการค้าและภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีการค้าโลก
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net