นวัตกรรมเลี้ยงปลิงขาว ช่วยชาวประมง คืนความสมดุลให้ชายฝั่ง
"ปลิงขาว" เป็นทรัพยากรประมงที่สำคัญของพื้นที่จังหวัด สตูล พังงา ระนอง และตรัง ปัจจุบันมีปริมาณลดลงต่อเนื่องจนอยู่ในสภาวะวิกฤติ ส่งผลต่อชาวประมงในพื้นที่ โดยปริมาณที่จับได้ลดลงประมาณ 90% เมื่อเทียบกับในอดีต โดยปลิงขาว เป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติ เช่น จีน เกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเชื่อว่าสามารถรักษาโรคบางชนิดและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยมีการซื้อขายมากกว่า 100,000 ตันต่อปี ในราคา 2,500 บาทต่อกิโลกรัม
สาเหตุหลักที่ทำให้ปลิงขาวลดลง เกิดจากการเก็บปลิงขาวมาจำหน่ายแบบไม่ควบคุม โดยเฉพาะในกลุ่มต่างประเทศที่มีความต้องการปลิงขาวเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2560 ตลาดในประเทศและต่างประเทศ จะรับซื้อปลิงขาวถึง 100,000 ตันต่อปี ปัจจัยที่ทำให้ปลิงขาวได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ มาจากโปรตีนในเนื้อปลิงทะเลมีสารมิวโคโปรตีนที่มี Chondroitin sulfuric acid เป็นองค์ประกอบสำคัญของส่วนต่าง ๆ ของ กระดูกอ่อน เอ็น และของเหลวที่หล่อลื่นตามข้อต่างๆ และยังมีความเชื่อที่ว่าสามารถรักษาโรคบางชนิดและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในแพทย์แผนจีน ซึ่งยังพบสาเหตุสำคัญอีกว่า ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่มีการอนุรักษ์ปลิงขาวและไม่มีวิธีที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ จึงทำให้ปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการขยายพันธุ์เพาะเลี้ยงปลิงขาว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงโครงการระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ด้วยงบกว่า 2 ล้านบาท ให้กับ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวที่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงทั้งในทะเลตรังและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศชายฝั่ง และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชาวประมงพื้นบ้าน เป็นการพัฒนานวัตกรรมระบบปิดสำหรับการเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวบนบกแบบครบวงจร ด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ปลิงขาว
โดยกำหนดปัจจัยเพื่อกระตุ้นการผสมพันธุ์ คือ ความเค็มของน้ำ อุณหภูมิ แสง อาหารและวัฏจักรของดวงจันทร์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราการผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์ และระบบเพาะเลี้ยงในฟาร์มบนบกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนปลิงขาวให้มีโอกาสเจริญเติบโตประมาณ 50% ของอัตราการเกิด เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอด 0.01%-0.05% ในแหล่งน้ำทะเลธรรมชาติ และใช้ระบบ Microscreen system, biological filter, DO2 degassing and protein skimmer มาช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในระบบเพาะพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อนของปลิงขาวบนบก
ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเล พร้อมช่วยยกระดับการประมงพื้นบ้านในพื้นที่ดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย