สงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อและไม่ได้ข้อยุติ ผลกระทบย่อมขยายวงกว้างเกินกว่าจะเป็นเพียงกรณีพิพาทระหว่าง 2 ประเทศ โดยอาวุธสำคัญที่ชาติมหาอำนาจทั้งสองใช้ฟาดฟันกัน คือ ภาษีสินค้านำเข้า ที่ต่างฝ่ายต่างต้องจ่ายเพื่อซื้อสินค้าจากอีกฝ่าย โดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายที่เริ่มก่อน หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม จึงต้องสงครามการค้า เป็นเรื่องการตอบโต้กันทางภาษี ก็เพราะภาษีเป็นรายได้ทางตรง และอยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาล ทำให้การขึ้นอัตราภาษีจึงหมายถึง รายได้ที่ชัดเจน ซึ่งจะไหลเวียนภายในประเทศต่อไปในอนาคต และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการต่อรองทางการค้าที่รัฐบาลมีอยู่ในมือ

        เมื่อการทำสงครามครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษี ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งระบบเศรษฐกิจโลกที่มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงิน การค้า ต้นทุนการผลิต เข้ามาเกี่ยวข้อง และสินค้าที่ทั้ง 2 ประเทศ ที่ประกาศขึ้นภาษีต่อกันยังมีสินค้า End Product วัตถุดิบการเกษตร ค่าแรงของสินค้าประเภทชิ้นส่วนที่มาจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นสงครามการค้าครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องระหว่าง 2 ประเทศเท่านั้น แต่ได้ขยายผลกระทบเป็นวงกว้างมาถึงประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบ หากจีนหรือสหรัฐฯ เลือกลดต้นทุนการผลิตลง หรืออาจจะมีผลทางบวกหากทั้ง 2 ประเทศเลือกสั่งวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศอื่นๆ 

 

          “หัวเว่ย” เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของจีนที่พยายามพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสร้างระบบจัดการข้อมูลของจีน ที่เริ่มจากธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก และพัฒนาด้วยการเรียนรู้โลกภายนอก จนพัฒนาเป็นแบรนด์ที่แข่งขันได้ในระดับโลกได้ และกลายบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้า ที่พัฒนาเป็น สงครามเทคโนโลยี” 

          แม้ว่าหลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28-29 มิ.ย. ที่ผ่านมา จีนและสหรัฐจะมีท่าทีจะผ่อนคลายความตึงเครียดต่อกัน โดยที่สหรัฐได้ให้คำมั่นว่าจะยังไม่มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะผ่อนปรนมาตรการปิดกั้นหัวเว่ย ด้วยการเริ่มออกใบอนุญาตบางส่วนให้แก่บริษัทซัพพลายเออร์ของสหรัฐให้ส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กับหัวเว่ยได้ ขณะที่จีนก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ แต่กระนั้นก็ไม่ควรวางใจท่าทีของทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจที่ยังคงวางเกมส์เดินหน้า และต้องจับตามองท่าทีอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยตรง

          แน่นอนว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2562 หลายประเทศเริ่มเห็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากสงครามการค้าชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก หนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย ซึ่งเป็น Supply Chain เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า

 

         ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกไทยรวม 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.4% และการค้าเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกครึ่งปีแรกของปี 2562 ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  โดยปัจจัยหลักยังเป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าและความเป็นไปได้ที่ทั้งสหรัฐและจีน จะเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ และยังเจอปัญหาความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่นๆ กระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาพการส่งออกไทยในครึ่งปีแรก

         สำหรับการส่งออกของไทยใน เดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ 2.15% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.2% โดยการส่งออกของไทยมีทิศทางสอดคล้องกับการค้าโลก อุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่องนับจากปลายปี 2561 ขณะที่ การนำเข้าเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 9.4% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

         โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 9.0% ซึ่งสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา เครื่องดื่ม ส่วนสินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 0.04% สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

          ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะขยายตัวที่ 3.3% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551-2552 อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์ มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยในระยะเร่งด่วน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวมากขึ้น

          นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่เช่น แคนาดา ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัว พร้อมให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว