13 ส.ค.62- ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้เชิญนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตัวแทนปลัดกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาให้ข้อมูลต่อกมธ. 

          นายคริส โปตระนันทน์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่า การต่อสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้อง เพราะ 

          1.คณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานนั้น เกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามม.44 ซึ่งมีข้อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงมีข้อครหาว่า จะเกิดความไม่โปร่งใส รวมถึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย

          2.ทางตัวแทนคณะกรรมการฯ ไม่สามารถชี้แจงให้กมธ.เชื่อได้ว่า การต่อสัมปทานจะมีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศมากที่สุดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนหนี้ของรฟม.ที่จะโอนมาให้เป็นของกทม. หรือ การกำหนดราคาค่าโดยสารให้เป็นธรรม หลังจากการต่อสัมปทานออกไป ซึ่งทางกมธ.เห็นว่า ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ม.44 ต้องการ คือเป็นโครงข่ายเดียวกันของรถไฟฟ้าทั้งระบบ

          ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.ได้มีมติไม่ให้บีทีเอสต่อสัมปทานการเดินรถออกไปอีก 40 ปี แบ่งเป็นสัมปทานปัจจุบันที่กำลังจะหมดในปี 2572 หรือ 10 ปี และสัมปทานใหม่อีก 30 ปี ถือเป็นเส้นทางการเดินรถที่เป็นไข่แดง และเป็นส่วนที่ทำเงินให้กับบีทีเอส มากกว่า 5,000 ล้านบาท 

          ดังนั้น เมื่อถึงปี 2572 ทุกอย่างจะต้องกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งต่อไปจะมีผู้เดินรถทั้งใต้ดิน และลอยฟ้าเพียงเจ้าเดียว ซึ่งรัฐบาล โดยรฟม.เป็นผู้ดำเนินการ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า กำไรของบีทีเอสจะกลับมาเป็นของรัฐบาลซึ่งจะสามารถนำส่วนนี้มาเป็นส่วนลดให้กับค่าโดยสารของประชาชนได้ เพราะถ้าให้เอกชนทำ ไม่มีทางที่เอกชนจะลดค่าโดยสารลง  ทั้งนี้ กมธ.จะนำข้อสรุปที่ได้จัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาก่อนส่งไปยังรัฐบาลต่อไป. 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net