วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์สมาชิกรวม 15 แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์สมาชิกรวม 15 แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines – Responsible Lending) ภายในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจและดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 4 แนวทาง คือ

  • การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ
  • การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย
  • การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน
  • การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจโดยละเลยการพิจารณาความเสี่ยงจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (environment, social, governance) รวมถึงตัวอย่างแนวปฏิบัติในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรเพื่อก้าวข้ามปัญหาจากการละเลยปัจจัยดังกล่าว โดยปัจจัยด้านความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงที่มีผลต่อฐานะทางการเงิน และจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินโดยการนำของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงจะผลักดันให้มีการผนวกปัจจัยด้าน ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งยังมีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตผลในภาคเกษตรกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เห็นได้ชัดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่ง ในมิติด้านสังคม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะกลายเป็นความเปราะบางในภาคครัวเรือน จนอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ ปัญหาคอร์รัปชันที่ยังพบอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมไทย ได้กัดกร่อนศักยภาพในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างล่าช้าและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย จากปัญหาเหล่านี้ ภาคธนาคารไทยในฐานะตัวกลางทางการเงินสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยการจัดสรรทรัพยากรทุนให้ถูกใช้ไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบอันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินได้

การที่สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของภาคการธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะยกระดับการทำงานของภาคสถาบันการเงินไทยด้วยการมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติร่วมกันในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ หรือที่เรียกว่า responsible lending guideline เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีกระบวนการสนับสนุนการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินเองและบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้ ตลอดจนพร้อมนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งในการเดินทางมุ่งสู่การพัฒนาการธนาคารเพื่อความยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันการเงินจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผล และตรวจสอบการปฏิบัติ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่น่าเชื่อถือในเวลาที่เหมาะสม

โดยความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญมากของภาคสถาบันการเงินไทยบนเส้นทางการประกอบธุรกิจที่ไม่เพียงแต่มีธรรมาภิบาลในองค์กร แต่ยังมีธรรมาภิบาลในความหมายกว้างซึ่งคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกสิกรไทย ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า ระบบสถาบันการเงินเป็นกลไกทางการเงินที่สำคัญ ที่ไม่เพียงมีบทบาทในการสนับสนุนทางการเงินผ่านกลไกสินเชื่อเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความสมดุลที่สามารถป้องกันและยับยั้งความเสี่ยงที่สามารถจะขยายผลเป็นความเสี่ยงทางการเงินและทางเศรษฐกิจของประเทศได้เสมอ ดังนั้น เมื่อใดที่สถาบันการเงินของประเทศมีความเข้าใจและความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบในการให้สินเชื่ออย่างเหมาะสม มีเหตุมีผล เมื่อปฏิบัติร่วมกันและต่อเนื่องแล้ว ก็จะเป็นสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินและประเทศชาติในระยะยาวเช่นกัน

ดังนั้น แนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง โดยมีแนวทาง 4 ข้อ คือ การแสดงเจตนารมณ์ในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (leadership and responsible lending commitment) การคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) การกำหนดนโยบายและกระบวนการทำงานภายใน (internal implementation mechanisms) และมีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล (transparency) ในขณะเดียวกันยังมุ่งหวังให้ทุกธนาคารตระหนักถึงพันธสัญญาที่จะร่วมสร้างวัฒนธรรมการมีวินัยทางการเงิน และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง และการจัดการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมอีกประการหนึ่งด้วย โดยพฤติกรรมและอุดมการณ์เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบและรากฐานที่สำคัญของระบบสถาบันการเงินไทยต่อหน้าที่ในการร่วมพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

กรุงไทยโตบนหลักบรรษัทภิบาล

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงไทย ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 โดยมีนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยผู้บริหารธนาคารร่วมให้การต้อนรับ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของธนาคารกรุงไทยคือ การร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการสร้างการเติบโตของธุรกิจเพื่อก้าวสู่การเป็น invisible banking ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้า บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance – CG) และการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility – CSR) อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ด้าน ได้แก่

ด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่เกิดกับสภาพแวดล้อม สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โครงการ Internal Digitization – Paperless Branch โดยตั้งเป้าลดปริมาณการใช้กระดาษระหว่าง ปี 2561-2565 ลง 50% โครงการลดปริมาณขยะ นำเศษอาหารจากห้องอาหารของธนาคาร มาแปรรูปเป็นดิน โครงการทางเดียวกันไปด้วยกัน รณรงค์ให้พนักงานที่อยู่เส้นทางเดียวกันใช้รถร่วมกัน

ด้านสังคม ธนาคารคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับชุมชน ผ่านโครงการกรุงไทยรักชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนใน 10 ชุมชนทั่วประเทศ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ส่งเสริมชุมชนใช้ QR Code รวมทั้งพัฒนาสินค้า บริการ และท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนดำเนิน โครงการกรุงไทยรักบางกะเจ้า สนับสนุนทั้งด้านบุคลากรและเงินทุน โดยให้ความรู้ทางการเงินกับครูและนักเรียนโรงเรียนวัดป่าเกด รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้า ในชุมชนตลาดบางน้ำผึ้ง ให้บริการ e-donation ภายใต้ชื่อ “กรุงไทย เติมบุญ” รับบริจาคเงินทำบุญที่วัดจากแดง โดยเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่สามารถออกใบอนุโมทนาบุญอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลได้ทันที ไม่เสียค่าธรรมเนียม พร้อมส่งข้อมูลการบริจาคให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ซึ่งเป็นกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยออกสินเชื่อสนับสนุนลูกค้า SME ขนาดต่างๆ ด้วยเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อ Krungthai sSME ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยธนาคารให้วงเงินกู้เพื่อต่อยอดหมุนเวียนธุรกิจเป็น 3 เท่าของยอดขายต่อเดือน หากกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระตามเงื่อนไขปีแรก ในปีต่อไปธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1% ต่อปี อีกทั้งยังสนับสนุน โครงการรวมหนี้ไว้ในที่เดียว (debt consolidation) เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดปัญหาการกู้ยืมหนี้นอกระบบ โดยมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และสามารถปิดวงเงินกู้เมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม

ด้านธรรมาภิบาล ธนาคารยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ปฏิบัติตามกฎเกณท์และกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนธนาคารกรุงไทยสู่การเป็นธนาคารต้นแบบคุณธรรมด้วย โครงการกรุงไทยคุณธรรม ยกระดับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่อดทนต่อการทุจริต (zero tolerance) นำ market conduct หรือการบริหารจัดการด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรมมาเป็นกรอบในการดำเนินงานอย่างเข้มข้นตรวจสอบได้

ในยุค technology disruption ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทั้งระบบงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทาย ธนาคารจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการก้าวสู่ invisible banking เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ตาม 5 กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ตลอดจนสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศ โครงการ National e-Payment และ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ไทยพาณิชย์กำหนดสินเชื่อต้องห้ามตาม ESG

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารไทยพาณิชย์ ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 โดยมีผู้บริหารธนาคารให้การต้อนรับ

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “Embracing Sustainability: No Turning Back” นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้ร่วมจัดแสดงบูธการดำเนินกิจการธนาคารภายใต้แนวคิด “ธนาคารไทยพาณิชย์…ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดยนำเสนอเรื่อง 1) Sustainable Finance การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน 2) Financial Inclusion การสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และ 3) Financial Literacy การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินแก่ลูกค้าและสังคมไทย

ด้วยวิสัยทัศน์ของธนาคารในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด (the most admired bank) ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้ยกระดับการพิจารณาสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) โดยมีการปรับปรุงแนวนโยบายการให้สินเชื่อ (credit policy guide) ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งพิจารณาแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากล อาทิ หลักการอีเควเตอร์ (equator principles) และแนวปฏิบัติของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) และนำมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม

โดยได้มีการกำหนดรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) อันเนื่องจากประเด็นด้าน ESG พร้อมกับการจัดระดับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อโครงการ (project finance) โดยกำหนดให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงต้องการอำนาจอนุมัติจากผู้มีอำนาจของธนาคารในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ริเริ่มจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (sector specific guide) ซึ่งเป็นข้อควรพิจารณาในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สำคัญในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมเฉพาะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าธนาคารให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธนาคารยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนชนทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าทั่วไป ลูกค้า SME รวมถึงลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน โดยธนาคารใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (machine learning) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเงินแก่สังคมไทยผ่านแนวทางการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์และสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์ ของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตน โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย เช่น ภาพยนตร์สั้น “คุณชายทลายโกง” หรือ “คุณนายออม” ที่มุ่งเน้นเนื้อหาสำหรับการช่วยเสริมทักษะในการบริหารและจัดการด้านการเงินทำให้ประชาชนสามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินธุรกิจได้ อีกทั้งธนาคารได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีในการพัฒนารูปแบบการให้ความรู้ทางการเงินที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงพัฒนาแอปพลิเคชัน “เก็บหอม” ที่ช่วยให้การออมเป็นเรื่องง่าย ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการแนะนำรูปแบบการออมเงินตามเป้าหมาย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ยุคใหม่

ทีเอ็มบี ร่วมแสดงกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ให้การต้อนรับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดินเยี่ยมชมบูธทีเอ็มบี ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ให้การต้อนรับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเดินเยี่ยมชมบูธทีเอ็มบี ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 ภายในงาน ทีเอ็มบีได้นำกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคาร ซึ่งให้ความสำคัญ และนำเสนอให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยดำเนินการตาม 4 แกนหลัก ได้แก่ การส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม (Financial inclusion), การจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงิน (Financial literacy), การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) และการมีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบของพนักงาน (Responsible Mindset) เป็นแกนกลางส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการในการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และจะส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวม และได้เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ออกกรีนบอนด์ เพื่อสนับสนุนการลงทุนที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงาน นายปิติ ยังได้รับเกียรติ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Embracing Sustainability: No Turning Back” เพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสิ่งที่ใช้ในการส่งเสริมความยั่งยืน”

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงเทพ ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารกรุงศรี ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารธนชาต ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เยี่ยมชมบูธธนาคารยูโอบี ในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org