การวางแผนยุทธศาสตร์เมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น  นายฐาปนา บุญยประวิตร

ที่มาและความสำคัญ

         สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีนโยบาย พัฒนากลไกเชิงพื้นที่เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจระดับย่าน โดยอาศัยการวิจัยเชิงพื้นที่จากองค์ความรู้ด้านการวางผังและการออกแบบเมืองตามที่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจขนาดใหญ่นำมาใช้ ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์การพัฒนา ได้แก่เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) เกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-Neighborhood Development) และเกณฑ์การออกแบบเมือง Form-Based Codes ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกทดสอบ การวางแผนปรับปรุงฟื้นฟูเมืองและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คาดหวังให้เกิดการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ (New Urban Development Platform) ที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานการออกแบบดังที่กล่าวข้างต้น ผสมผสานกับกลไกการบริหารจัดการเมืองที่ดำเนินการโดยเครือข่ายบริษัทพัฒนาเมือง (City Development Network-CDN) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Government Organization-LGO) หรือสถาบันการศึกษา เพื่อนำไปสู่รูปแบบการพัฒนาเมืองที่ได้มาตรฐาน สามารถยกระดับทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการพัฒนาจากเศรษฐกิจระดับฐานรากซึ่งเริ่มจากย่านและพื้นที่เมืองนั้นๆ อย่างแท้จริง

         ปัจจุบันอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบการพัฒนาเมืองเป็นของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง การเคหะแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังเช่น หลายๆ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยหน่วยงานที่กล่าวมา ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากเมืองเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมร่วมกันของประชาชนจำนวนมาก อาศัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม นันทนาการที่พึ่งพาอาศัยกัน ดังนั้น เมืองจึงต้องมีการจัดการทั้งด้านการวางแผน การบริหารจัดการ และการบริการเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ

         อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของหลายหน่วยงานเพื่อการพัฒนาเมืองอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาสู่ความยั่งยืน ความปลอดภัยน่าอยู่ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการขาดการวางแผนที่ได้มาตรฐาน ก่อให้ เกิดยุทธศาสตร์ที่ไร้ทิศทาง การทำงานของแต่ละภาคส่วนยังเป็นไปคนละทิศทาง ขาดการจัดทำข้อตกลงร่วมกันของสังคมและการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) การวางแผนงานกำหนดทิศทางพัฒนาร่วมกัน ขาดการบูรณาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทุกภาคส่วน รูปแบบการดำเนินการของภาครัฐยังคงเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา การวางแผนการพัฒนาทางกายภาพ ไม่อาจส่งเสริมและควบคุมทิศทางการขยายตัวของเมือง แผนการพัฒนาส่วนใหญ่กำหนดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้กำหนดจากยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคต เมืองขาดนวัตกรรม หรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นกลไกผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้าและเกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ แม้แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบคมนาคมและขนส่ง ยังพบการลงทุนที่สนับสนุนการเดินทางและการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งกรณีการให้ความสำคัญอย่างมากต่อการลงทุนโครงข่ายถนนนั้น นับเป็นการส่งเสริมการกระจัดกระจายของเมือง (Urban Sprawl) อันเป็นสาเหตให้เมืองเติบโตแบบไร้ทิศทาง อีกทั้ง ยังสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อการสัญจร เป็นการเพิ่มปัญหาการจราจร เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการเดินทาง หรือการวางแผนโครงข่ายถนนที่ยังขาดความสมบูรณ์ ไม่บูรณาการร่วมกับการพัฒนาเมือง ที่สำคัญ ยังขาดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สามารถรองรับการสัญจรของประชาชนได้เป็นจำนวนมาก มีศักยภาพระดับสูงในการลดการกระจัดกระจายของเมือง สามารถกำหนดทิศทางการขยายตัวของเมือง มีอิทธิพลทางตรงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางและรูปแบบการพัฒนากิจกรรมเศรษฐกิจซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาได้

         จากเหตุปัจจัยข้างต้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองของไทยยังขาดทิศทางที่เด่นชัด ส่งผลให้เมืองขาดความเป็นระเบียบ มีการกระจัดกระจายของเมืองโดยการแผ่ขยายของเนื้อเมืองออกไปทุกทิศตามเส้นทางโครงข่ายถนน หรือกระจัดกระจายแบบก้าวกระโดด เกิดชุมชนและกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหย่อม ๆ เมืองมีความระเกะระกะทางกายภาพในระดับสูง ประชาชนขาดทางเลือกการเดินทาง โดยต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก ก่อให้เกิด ปัญหามลภาวะและสภาพแวดล้อมเมืองที่เสื่อมโทรม เมืองและกิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัวไปในพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสม รุกล้ำโครงข่ายทางน้ำและพื้นที่การเกษตร เมืองที่ไร้ทิศทางได้ทำเกิดความไม่คุ้มค่าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคไม่มีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง ที่เลวร้ายที่สุดคือ การกระจัดกระจายของเมืองได้เป็นต้นเหตุให้เกิดสภาพปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม ซึ่งสภาพปัญหาส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการวางแผนพัฒนาเมืองที่เรียกว่า unplanned city ทางด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานนั่นเอง

         จากที่กล่าวมานั้น จึงมีความจำเป็นในการคิดค้นกลไกวิธีการพัฒนาเมืองเสียใหม่ ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้มีทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม เลือกใช้แนวคิด นโยบาย มาตรการ และกลไกการวางแผนที่เป็นสากล รวมทั้ง การใช้องค์กรการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ บริษัทพัฒนาเมืองให้เป็นประโยชน์ โดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคส่วนต่างๆ จัดสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองและกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบทบาทของพื้นที่ สร้างแนวทางร่วมกันให้สอดคล้องกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเชื่อว่า จะสามารถกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตประชาชนให้สูงขึ้นได้ ซึ่งการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ ที่กล่าวมานั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทศวรรษหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แนวคิดหลักของการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ประกอบด้วย

1) ประยุกต์ใช้เกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth Principles) เกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบด้านพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (Leadership in Energy and Environmental Design – Neighborhood Development: LEED-ND) และเกณฑ์การออกแบบเมือง Form-Based Codes โดยบูรณาการเกณฑ์ที่กล่าวออกมาเป็นกฎบัตรเพื่อการพัฒนาเมือง (National Charter) เพื่อเป็นกลไกในการสร้างข้อตกลงร่วมกันของสังคม (Social Collaboration) โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์เมืองและเศรษฐกิจ พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา ซึ่งจะทำให้เกิดมีศักยภาพและสมรรถนะในการลดการกระจัดกระจายของเมือง และใช้พลังจากทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างทิศทางการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืน

2) สร้างรางวัลการวางแผนแห่งชาติ (Thailand Planning Awards-TPA) ให้เป็นต้นแบบมาตรฐานในการวางแผนพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจ สร้างรางวัลมอบแก่ผู้พัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่ง TPA จะกำหนดแนวทางและตัวชี้วัดเป็นบรรทัดฐานใหม่เพื่อการวางแผนและกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนใช้เป็นกรอบการพัฒนา และ

3) บูรณาการเกณฑ์มาตรฐาน กลไก และเครื่องมือการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาด เกณฑ์รางวัลการวางแผนแห่งชาติ เข้ากับแผนการพัฒนาเมืองในรูปของกฎบัตร ที่ได้ร่วมกันจัดทำจากทุกภาคส่วน โดยมีบริษัทพัฒนาเมืองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกนกลาง โดยบูรณาการ New Urban Development Platform ทั้งสามข้อเพื่อปฏิบัติการในรูปของโครงการวิจัย

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ “โครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ในการพัฒนาเมืองโดยออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม” (Smart Growth for Area Development Mechanism of Urban Planning and Design toward Economic and Social Improvement-SG-ABC) เพื่อให้ทดสอบศักยภาพกลไกและเครื่องมือดังที่กล่าว ในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดความสมดุลต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

อ่านต่อและเพิ่มในไฟล์แนล PDF 

Download PDF File