16 ก.ย. 2562 นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ 3 กรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งศึกษาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลภาษีของหน่วยงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษี และเกิดประโยชน์กับประเทศในการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ได้มีการประชุมในครั้งแรกไปเรียบร้อยแล้ว และได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปดูรายละเอียดแนวทางการเก็บภาษีในปัจจุบันทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และของโลก อะไรที่เป็นอุปสรรคต้องแก้ไข โดยหลายเรื่องแต่ละกรมภาษีได้มีการศึกษาไว้แล้ว

“คงต้องใช้เวลาประชุมกันอีกหลายครั้ง เพราะเรื่องภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายสังคม ว่าทิศทางการจัดเก็บภาษีของประเทศควรจะเป็นอย่างไร” นายประสงค์ กล่าว

          นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ต้องมีการศึกษาในภาพรวม คงไม่สามารถสรุปได้ทันภายในปีนี้ เนื่องจากการดำเนินการจะต้องพิจารณาให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยประเทศไทยต้องการมีสวัสดิการที่ดี แต่ต้องการเสียภาษีน้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่สวนทางกันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรปมีสวัสดิการที่ดีมาก จากการเสียภาษีในอัตราสูง จึงต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบด้าน

          สำหรับการลดภาษีต้องพิจารณาให้คนรายได้น้อย และรายได้ปานกลางได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เป็นการลดภาษีแล้วช่วยให้คนรวย หรือเศรษฐีได้ประโยชน์มากกว่า โดยต้องมาดูว่าหากมีการลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา คนรายได้น้อยจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะตามปกติแล้วคนรายได้น้อยไม่เสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย แต่กลับกันเรื่องดังกล่าวจะกลายไปเป็นประโยชน์กับคนที่เสียภาษีมาก เพราะเสียภาษีน้อยลง

          “การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% เป็นไปได้ แต่ต้องมองภาพรวม ต้องดูว่าลด 10% แบบไหน หากมีการลดจริง ที่เคยได้รับการยกเว้นก็จะไม่ได้รับการยกเว้น ที่ไม่เคยเสียภาษีก็ต้องมาเสียภาษี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะลดภาษีแล้วไม่มีภาษีตัวอื่นมาชดเชยรายได้ของประเทศที่หายไป ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ” นายประสงค์ กล่าว

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลน้อยมาก เพราะอัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 20% แต่ผู้ประกอบการยังต้องเสียภาษีเงินปันผลด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทำให้เมื่อรวมกันแล้วผู้ประกอบการต้องเสียภาษีรวมกันอยู่ที่ 28% ขณะที่บุคคลธรรมดาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุด 35% แต่เมื่อหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ทั้งหมดแล้ว จะเสียภาษีจริงอยู่ที่ 29% ซึ่งจะเห็นว่าการเสียภาษีที่แท้จริงของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลใกล้เคียงกันมาก แทบไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net