ไทยดึงโมเดล อุต-คมนาคมญี่ปุ่น หนุนแบรนด์อิมเมจ “Made in Thailand” เทียบชั้น “Made in Japan”
เป็นเรื่องท้าทายในภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมไทย ที่ต้องปรับตัวและให้ความสำคัญเพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวทัน เป็นภารกิจที่ท้าทาย โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของสินค้าแบรนด์ไทย แม้ว่าคุณภาพจะได้มาตรฐานแล้ว แต่ก็ยังยกระดับเทียบเท่ากับประเทศญี่ปุ่นได้ยาก ซึ่งธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว พัฒนาแผนงานและระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพแรงงาน ควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัย นำระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการด้านคมนาคม ซึ่งไทยมุ่งยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานไทยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่น เพื่อสร้างแบรนด์อิมเมจให้ “Made in Thailand” เทียบชั้น “Made in Japan”
นายอัตสึชิ เทเรดะ ผู้จัดการอาวุโส สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรม เป็นพันธมิตรและฐานการผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเภทต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในฐานะพันธมิตรทางการค้าและเศรษฐกิจ จึงได้มีแนวคิดที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆของประเทศไทยให้มีความทันสมัยและทัดเทียมกับญี่ปุ่น
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานที่กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 ซึ่งมุ่งผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ
นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของการคมนาคม จะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในฐานะการเป็นโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะในการเชื่อมต่อระบบขนส่งกับสิ่งอำนวยความสะดวก การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ การเดินทาง และการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งนี้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการแบ่งปันข้อมูล (บิ๊กดาต้า) เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปันหรือ Sharing Economy และยกระดับให้การเดินทางมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ควบคู่กับ การมีระบบขนส่งขนาดรองที่เหมาะสมกับเมือง เช่น รถบัส โมโนเรล ยานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็กที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน สถานศึกษา สถานพยาบาล และบริการสาธารณะอื่นๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ไทยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันได้ สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น หรือ JMA ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงคมนาคม เตรียมจัด งาน “Maintenance and Resilience Asia 2019” ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure โดยนำ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ เซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ IoT
อย่างไรก็ตาม JMA เชื่อมั่นว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคคมนาคม และในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานของไทยแข็งแกร่งได้เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องความสมบูรณ์แบบของระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โดยยังจะช่วยให้รู้วิธีการจัดการกับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ระบบขนส่ง ถนน อุโมงค์ สะพาน รถไฟ ฯลฯ ที่ญี่ปุ่นมีการใช้งานมากว่า 50 ปี แต่ยังมีความคงทนและฟื้นฟูได้รวดเร็ว และสามารถรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประสบครั้งแล้วครั้งเล่า