กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกเดือน กันยายน 62 ลดลงต่อเนื่อง ติดลบร้อยละ 1.4 ส่งผลให้การส่งออก 9 เดือนลดลงถึงร้อยละ 2.11 ยอมรับทั้งปีการส่งออกจะติดลบร้อยละ 1 จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เบร็กซิท เงินบาทแข็งค่า แนะภาคเอกชนทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน

       น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.62 มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 186,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.1 การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.7 และการค้าเกินดุล 7,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

         โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่า 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป โอกาสยอดส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 0 หรือติดลบไม่เกินร้อยละ 1 เพราะขณะนี้แม้ปัจจัยเศรษฐกิจโลกจะชะลอ แต่ยอดส่งออกขณะนี้เริ่มชะลอตัวติดลบน้อยลง ไม่ใช่เฉพาะยอดส่งออกของไทยเท่านั้น หากเทียบกับหลายประเทศติดลบอัตราที่น้อยลง และยังมองว่าปีหน้า แม้สงครามสหรัฐฯกับจีนยังมีอยู่ หรือแม้ภาวะความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนยังมีต่อเนื่องโอกาสที่ไทยจะขยายตัวส่งออกได้ ดูจากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนของไทยเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ต่อเนื่อง

        ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรปเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส และสถานการณ์เบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ผู้ส่งออกควรลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการทำประกันความเสี่ยงหรืออาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว  ขณะเดียวกันจากการประเมินปีหน้าตัวเลขส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 1-2 หรือมียอดส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสมมติฐานจีดีพีไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.7-3 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ น้ำมัน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นต้น

สำหรับในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางการค้า เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าให้การเจรจาอาร์เซ็ปสำเร็จภายในสิ้นปี 2562 และเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเช่น เอฟทีเอ ไทย-ตุรกี ตั้งเป้าจะสรุปผลได้ในต้นปี 2563 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาเอฟทีเอในอนาคตได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เป็นต้น