มา เพิ่มความสุข ในชีวิตของเรา แล้วปรับความคิด ลดการกล่าวโทษคนอื่น โทษนั่น โทษนี่ลง “Victims of the Circumstance” (เหยื่อของสถานการณ์) เป็นชื่อเพลงเพลงหนึ่งของ บาร์เคลย์ เจมส์ ฮาร์เวสต์ ศิลปินคนโปรดคนหนึ่งของผม มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งชัดเจนมาก ก็คือ “Those mistakes that you all made in the past, you never seem to see.” ซึ่งกล่าวถึงความผิดพลาดในอดีต

ปกติคนเรามักจะมองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเอง แล้วก็มักจะโทษนั่นโทษนี่ บ้างก็ว่าเป็นเพราะ “สถานการณ์” บีบบังคับ เราเลยต้องเป็นแบบนี้ ต้องทำแบบนั้น จึงเป็นเหตุผลมักง่ายที่ทำให้เราไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คนทำงานเวลาเกิดปัญหาในองค์กรขึ้นมามักบอกกับตัวเองว่า เราทำอะไรไม่ได้มากนักหรอกนะ และกล่าวโทษระบบ เจ้านาย ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานแต่มักไม่ค่อยจะดูตัวเองว่าบางทีปัญหาอาจอยู่ที่ตัวเรา 

หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Way of Aikido ของ จอร์จ ลีโอนาร์ด ทำให้ผมย้อนกลับมานึกถึง “เหยื่อของสถานการณ์” ในหน้าที่ 36 กล่าวว่า ที่เรือนจำใหญ่แห่งหนึ่งในนิวเจอร์ซีย์ นักโทษจำนวนหนึ่งที่อยู่ในคุกได้รับชมวิดีโอชุดเดียวกัน ที่ถ่ายภาพผู้คนที่กำลังเดินอยู่ตามทางเดินในที่สาธารณะต่างๆ ของนครนิวยอร์ก แล้วได้ตั้งคำถามกับนักโทษเหล่านี้ว่า “ถ้าคุณยังเป็นนักจี้ปล้นอยู่ คุณอยากจะจี้หรือปล้นคนไหนบ้างในวิดีโอนี้”

ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจมากครับ

ข้อแรก - นักจี้ปล้นที่อยู่ในคุกเหล่านี้มักเลือก “คนในวิดีโอ” ใกล้เคียงกันมากได้แก่ ผู้หญิงชุดสีแดงคนหนึ่ง

ข้อที่สอง - คนที่ถูกเลือกโดยนักโทษเหล่านี้ไม่ได้มีท่าทางอ่อนแอหรือเป็นคนตัวเล็ก แต่เป็นเพราะ “ลักษณะการเดิน”

    ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สังเกตว่า ท่าทางการเดินของคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถูกเลือกเป็น “เหยื่อ” ของนักจี้ปล้น การเดินที่ไม่มีเซ็นเตอร์และไม่รู้จักการกราวดิ้ง (Grounding) หรือการ “รับรู้” ทุกขณะของการเดินหรือการรับรู้ว่าฝ่าเท้าของเราสัมผัสพื้นอย่างไร ไม่ใช่เป็นการเดินไปดูมือถือไป ใจไม่ได้อยู่กับร่างกาย ก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ง่าย สถานการณ์เหล่านี้เราเป็นผู้เลือกได้ว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อ

จอห์น คองเกอร์ นักจิตวิทยาสายโซมาติก (Somatic Psychology) บอกว่า การอยู่ในโลกใบนี้โดยไม่รู้จักการกราวดิ้งนั้นเป็นอันตรายอย่างมาก ไม่รู้แล้วยังพานไปคิดว่า การที่ฉันถูกปล้นเป็นเพราะฉันโชคร้าย ไปอยู่ผิดที่ผิดเวลา จึงตกเป็น “เหยื่อของสถานการณ์”

งานวิจัยนี้จึงทำให้เราเห็นว่า การที่คนคนหนึ่งถูกปล้นไม่เกี่ยวข้องกับการเป็น “เหยื่อของสถานการณ์” แต่เป็นเพราะไม่รู้จักวิธีการเดินที่ถูกต้องในที่สาธารณะนั่นเอง ในทำนองเดียวกันกับปัญหาเรื่องอื่นๆ ความเป็นอัตโนมัติของพฤติกรรมเราต่างหากเป็นสาเหตุของปัญหา ฉะนั้น เราควรจะสำรวจดูว่า จริงๆ แล้วเราเป็นอย่างไรมากกว่าที่จะคอยโทษคนอื่นหรือความโชคร้ายของตัวเอง

นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา และนักคิดทั้งหลาย สรุปเรื่องนี้ให้ฟังง่ายๆ คือ “เรามักจะเป็นอย่างที่เราคิด” แต่ปัญหาคือ “เรามักจะไม่รู้ว่าเรากำลังคิดอะไร” 

การกลับมารับรู้ความคิดของเรานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะความคิดของเรามีมากเกินไปและเกิดขึ้นรวดเร็วเกินไป เปรียบเสมือนรถไฟความเร็วสูง ที่ขณะวิ่งผ่านเราไป เราแทบจะไม่ทันเห็นด้วยซ้ำ

วิธีที่ง่ายกว่าคือ “การกลับมารับรู้ร่างกายของเรา” 

ถ้าเราสามารถตั้งกติกาให้ตัวเองใหม่ว่า ต่อไปนี้ทุกครั้งที่เราก้าวเดิน เราจะ “เดินอย่างรับรู้” และไม่เดินแบบอัตโนมัติ การเดินของเราจะไม่ใช่แค่การเดินอีกต่อไป แต่จะเป็นการตั้งใจที่จะรับรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งหลังจากพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เราจะไม่เพียงแค่ “กราวดิ้ง”หรือการรับรู้ที่ฝ่าเท้าเท่านั้น แต่จะสามารถขยายการรับรู้ให้กว้างออกไปได้ จากนั้นค่อยๆ ใช้การรับรู้ของเราปรับความคิด กล่าวคือ แทนที่จะเชื่อว่าเราเป็นเหยื่อ และบ่นว่า “อะไรแย่ๆ ก็มาลงที่ฉัน” ลองคิดใหม่ว่า “มีคนคอยช่วยเหลือเราเสมอ”

ผมเชื่อว่า “สิ่งต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง” 

นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เป็นศัลยแพทย์อิสระ นักเขียน และนักบรรยายด้านสุขภาพใจและจิตวิญญาณผลงานเขียนเล่มล่าสุดคือ Service Is Meditation

ข้อมูลจาก คอลัมน์ MIND UPDATE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 447

SOURCE : www.goodlifeupdate.com