5 วิธีหาไอเดียใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
เราเชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่เคยเป็นหรือไม่คะ เวลาคนรอบตัวถามว่าอยากทำธุรกิจอะไร เรามักจะติดอยู่ที่ไอเดีย และไปต่อไม่ได้ บทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจดีๆ สำหรับผู้ที่มองหาไอเดียเพื่อเริ่มต้นธุรกิจค่ะ
วิธีหาไอเดีย 1: กำจัดตัวกลาง
ทุกวันนี้บ้านเรามีพ่อค้าคนกลางจำนวนมากที่เข้ามากินส่วนแบ่งและทำกำไรโดยมีต้นทุนเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่นวินมอเตอร์ไซค์ ที่มีค่าหัวคิว หรือธนาคารที่คิดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม
มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกหลายรายที่ทำธุรกิจเพื่อกำจัดตัวกลาง หรือเปลี่ยนวิธีการกระจายสินค้าโดยปราศจากตัวกลาง ยกตัวอย่างเช่น
- Xiaomi ที่ขายโทรศัพท์ผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น จึงทำให้บริษัทได้กำไรเต็มๆ โดยไม่ต้องแบ่งให้กับตัวแทนจำหน่าย
- LinkedIn เข้ามาลดค่าใช้จ่ายบริษัทสำหรับบริการ headhunt
- Uber X หรือ GrabCar เข้ามาแก้ปัญหาคนขับแทกซี่ที่ต้องจ่ายเงินให้ตัวกลาง โดยคนขับที่มีรถสามารถใช้รถตนเองในการหารายได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทแทกซี่
ในวงการการเงิน สกุลเงินดิจิตอลเช่น Bitcoin ทำให้การโอนเงินข้ามประเทศเร็วขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ซึ่งถือเป็นภัยกับบริษัทย่าง Western Union และ MoneyGram
วิธีหาไอเดีย 2: แก้ที่ Pain Point
หากคุณต้องการสร้างธุรกิจ ควรจะทำธุรกิจที่เป็น ยาแก้ปวดมากกว่าวิตามิน หมายความว่าสิ่งที่ทำนั้นต้องแก้ปัญหาบางอย่างได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ “nice-to-have” เพียงเฉยๆ เพราะในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง คนอาจลดการซื้อวิตามินลงเพราะวิตามินเป็นเพียงอาหารเสริม ในขณะที่ยารักษาโรคยังคงเป็นที่ต้องการไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ลองตั้งคำถามเช่น บริการของคุณดีกว่า ถูกกว่า ง่ายกว่า เร็วกว่าบริการในปัจจุบันหรือไม่
- ดีกว่า เช่น Dropbox มาช่วยแก้ปัญหาการเก็บข้อมูลใน Thumb Drive ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องพก USB ตลอดเวลา และยังสามารถแชร์ไฟล์ไปให้ผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย
- ถูกกว่า เช่น Shopify ที่เข้ามาช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างฟรีแลนซ์หรือคนทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดย SME สามารถสร้างร้านค้าด้วยตนเองโดยไม่ต้องเสียค่าจ้างและประหยัดไปได้กว่า 100 เท่า
- ง่ายกว่า เช่น Eventbrite ที่ช่วยให้ผู้จัดอีเว้นท์สามารถตรวจสอบยอดขายตั๋วและจัดการเรื่องการเก็บเงินค่าตั๋วได้ดียิ่งขึ้น
- เร็วกว่า เช่น PeerPower ที่อนุมัติสินเชื่อเร็วกว่าธนาคารและสถาบันการเงิน โดยผู้สินเชื่อจะทราบผลอนุมัติภายใน 3 วัน
วิธีหาไอเดีย 3: สร้างมูลค่าจากสิ่งของที่ยังไม่ถูกใช้งานเต็มที่
Under-utilised Inventory คือ สิ่งของที่ยังไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ คิดง่ายๆ เช่น โรงงานที่มีเครื่องจักรจำนวนมากและใช้งานเพียง 70% ของสินค้าทั้งหมดที่ผลิต
ธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียแบบนี้มีมากมาย เช่น
- Lyft ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในรถ คนขับที่ขับรถคนเดียว สามารถแชร์ให้คนอื่นติดรถด้วย และทำเงินจากการขับรถ ในขณะที่ Lyft ก็เก็บเปอร์เซนต์จากรายได้ที่คนขับสร้างได้
- AirBnB ที่ให้เจ้าของบ้านสามารถทำเงินจากห้องพักที่ตนไม่ได้อาศัยอยู่
- LendingClub (ทำธุรกิจแบบ PeerPower ในอเมริกา) ช่วยให้นักลงทุนที่มีเงินเหลือปล่อยกู้และรับผลตอบแทนรายเดือน
คุณควรลองมองดูรอบตัวว่ามีอะไรที่ยังใช้งานหรือประสิทธิภาพไม่เต็มที่ แล้วสามารถสร้างธุรกิจแบบ AirBnB หรือ Uber จากสิ่งเหล่านั้นได้หรือไม่
วิธีหาไอเดีย 4: เจาะจงกลุ่มลูกค้า
เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้คนเรามีความเป็นปัจเจกสูงขึ้น แต่ละแบรนด์พยายามทำ personalisation เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละราย ยุคนี้การเจาะกลุ่ม mass market เป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ ลองนึกถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม หรือ niche market เช่น
- Torrid และ LANE BRYANT ทำแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคนพลัสไซส์
- ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น เครื่องประดับสำหรับผู้สูงอายุผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทออร์แกนิกส์
- Northface เจาะกลุ่มคนเดินป่า และชอบผจญภัย
นอกจาก Niche Marketing จะช่วยให้แบรนด์ของคุณชัดแล้ว คุณยังสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่าสินค้าในตลาด เนื่องจากคู่แข่งน้อยกว่าทำให้ supply น้อยกว่า demand
วิธีหาไอเดีย 5: ผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจ
ปัจจุบันมีไอเดียธุรกิจที่ตอบโจทย์ end consumer มากมาย เช่น แอปพลิเคชั่นของธนาคารที่ทำออกมาล้วนตอบโจทย์ลูกค้ารายย่อยในการทำธุรกรรม แต่ยังมีโอกาสทางธุรกิจสำหรับกลุ่มลูกค้า B2B ที่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ เปรียบเทียบง่ายๆ แอปฯมือถือของฝั่งลูกค้า B2C มีลูกเล่นและบริการที่ดีกว่าแอปฯของฝั่งธุรกิจ และดูเหมือนกับธนาคารจะออกโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ฝั่ง end consumer มากกว่า
คุณสามารถคิดบริการที่จะมาตอบโจทย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- Xero เป็นซอฟต์แวร์ทางบัญชีสำหรับเจ้าของกิจการ
- Grab เปิดบริการ Grab for Business ช่วยให้บริษัท track ค่าเดินทางของพนักงานได้ดีขึ้น
- Ocha เป็นซอฟต์แวร์ POS ช่วยให้ร้านอาหารสามารถจัดการหน้าร้านไปจนถึงหลังครัวได้ดีขึ้น
SOURCE : www.peerpower.co.th