เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนส่วนมากจะรู้สึกชอบ และสบายใจเมื่อได้อยู่ในเขต Comfort Zoneของตัวเอง เพราะคนเราชอบที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยและปลอดภัย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะเริ่มรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม

แต่การที่เราเลือกที่จะอยู่แต่ใน Comfort Zone ก็อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป
 
เมื่อเราเลือกที่จะอยู่แต่ในพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย และเริ่มทำแต่สิ่งเดิม ๆ นั้นหมายถึงเรากำลังจะพลาดโอกาสในการเรียนรู้ และหลายครั้งมันยังเป็นตัวที่คอยดึงเราไว้ ไม่ให้เราเติบโตอีกด้วย
 
และนี่คือ 5 ข้อ ที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้คนทำงานสามารถออกจาก Comfort zone ของตัวเองได้ครับ

1. เริ่มต้นคุยกับคนที่อยู่นอกแผนกบ้าง

ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ แต่ละแผนกแยกกันทำงานอย่างชัดเจน มีโอกาสน้อยมากที่คนในบริษัทจะได้มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนกเดียวกัน ทำให้เมื่อต้องประสานงานกันข้ามแผนกก็อาจจะทำให้งานออกมาไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลเพราะไม่เคยคุยกันมาก่อนเลย ทำให้เราไม่มีข้อมูลเลยว่าแผนกอื่น ๆ มีสไตล์การทำงานอย่างไร, ทำอะไรอยู่บ้าง, หรือแม้กระทั่งแผนกนั้นทำอะไร
 
การเริ่มต้นพูดคุยกับคนในแผนกอื่น ๆ นอกจากจะทำให้การทำงานที่ต้องประสานกันระหว่างแผนกออกมาดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดเรื่องของไซโลในองค์กรได้อีกด้วย (Silo - การทำงานในลักษณะของแผนกใครแผนกมัน ไม่แบ่งหรือแชร์ข้อมูลระหว่างกัน)
 
ลองนึกดูหน่อยนะครับว่า… เราได้พูดคุยกับคนนอกแผนกครั้งล่าสุดเมื่อไหร่?

2. นำเสนอหรือพูดต่อหน้าผู้คนบ้าง

แค่คิดว่าตัวเองจะต้องพูดต่อหน้าผู้คน หลายคนก็อาจมีอาการวิตกกังวลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการพูดต่อหน้าผู้คน เพราะรู้สึกว่าสบายใจมากกว่าเมื่อไม่ต้องเป็นเป้าสายตาของคนอื่น ๆ ที่กำลังฟังเรา
 
แต่เราน่าจะคงเคยได้ยินกันมาบ้างล่ะครับว่า คนที่ทักษะในการนำเสนอ หรือพูดต่อหน้าผู้คนที่ดีกว่าจะเป็นคนที่ได้เปรียบมากกว่าในแง่ของการเติบโตในหน้าที่การงาน และมีแนวโน้มว่าจะได้รับการโปรโมตมากกว่า
 
รายงานจาก mba.com ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาในปี 2018 ได้ไปทำการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทกว่า 1,000 แห่ง ที่เข้ามาเปิดรับสมัครงานในวิทยาลัยธุรกิจที่สหรัฐฯ ว่า อะไรคือทักษะที่พวกเขาต้องการหรือมองหามากที่สุด โดยให้ผู้รับสมัครจัดอันดับทักษะที่พวกเขากำลังมองหาทั้งหมด 25 ข้อ และนี่คือทักษะ 5 ข้อที่ได้รับการจัดอันดับมากที่สุดครับ

  1. ทักษะการสื่อสารด้วยการพูด
  2. ทักษะการฟัง
  3. ความสามารถในการปรับตัว
  4. ทักษะการสื่อสารด้วยการเขียน
  5. ทักษะการนำเสนอ

จะเห็นได้ว่าอันดับหนึ่งคือการพูด อันดับห้าคือการนำเสนอ ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ในสายงานไหนก็ตามทักษะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรจะต้องฝึกฝนและพัฒนาให้ดีขึ้น
 
คำแนะนำจาก Warren Buffett
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 ขณะที่ Warren Buffett กำลังให้คำแนะนำต่าง ๆ กับนักศึกษาธุรกิจในคลาสเรียนของ Columbia University
 
Warren Buffett ก็ได้พูดขึ้นมาว่า..
 
"ผมจะจ่ายเงินให้คุณ 100,000 เหรียญ เพื่อแลกกับ 10% ของรายได้ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของคุณ ดังนั้นถ้าคุณสนใจให้มาหาผมหลังเลิกเรียน"
 
นักศึกษาทุกคนหัวเราะอย่างสนุกสนานกับมุขข้อเสนอของเขา แต่หลังจากเสียงหัวเราะเงียบลงเขาก็พูดอย่างจริงจังต่อว่า
 
“ตอนนี้คุณสามารถเพิ่มมูลค่าของคุณได้อีก 50% โดยการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร และการพูดในที่สาธารณะ และถ้าเป็นเช่นนั้นมาเจอผมหลังจบคลาสนี้ ผมจะจ่ายให้คุณ 150,000 เหรียญ”
 
ประเด็นสำคัญที่ Warren Buffett ต้องการจะสื่อก็คือ ทักษะการสื่อสาร และการพูดต่อหน้าผู้คน เป็นทักษะที่สำคัญมากที่จะช่วยยกระดับอาชีพของคุณได้

3. เรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกสายงานของคุณ

การเรียนรู้จนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสิ่งที่เราถนัดเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทุกวันนี้องค์กรหรือบริษัทกำลังต้องการคนที่มีความรู้แบบตัว T คือมีทักษะที่เชี่ยวชาญ รู้ลึกรู้จริงสักหนึ่งอย่าง ในขณะเดียวกันก็มีความรู้กว้างในเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพของเราเลยก็ได้
 
ยิ่งเรามีคลังข้อมูลที่อยู่ในหัวมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งสามารถสร้างสรรค์ไอเดีย หรือผสมผสานเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นไอเดียใหม่ ๆ มากขึ้นเท่านั้น
 
ในทุกวันนี้เรามีช่องทางมากมายในการที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ช่องทางที่ง่าย ถูก สะดวกสำหรับทุกคนอย่างการอ่านหนังสือ, การลงเรียนคอร์สออนไลน์, เข้าคอร์สหรือสัมมนา, เข้าร่วมกลุ่มหรือกิจกรรมต่าง ๆ

4. เสนอตัวเพื่อรับงานที่ท้าทาย

บ่อยครั้งเมื่อมีข้อเสนอให้ทำงานยาก ๆ โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่ก็มักเลือกที่จะปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าเราอยู่แบบนี้ของเราก็ดีอยู่แล้ว ขืนไปรับงานยากมาแล้วทำไม่ได้ หรือทำไม่สำเร็จก็มีแต่จะทำให้เสียหน้า เสียตาเปล่า ๆ ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงที่จะรับงานยาก ๆ และเลือกอยู่ในที่ที่เรารู้สึกว่าปลอดภัย ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ไม่แย่เท่าไหร่นักจริงไหมครับ?
 
แต่ความจริงก็คือ คนที่กล้าที่จะรับงานยากจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากกว่าคนอื่นอย่างชัดเจน เราคงจะเห็นได้จากเหล่าผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงต่าง ๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มาจากการกอบกู้วิกฤติให้กับบริษัททั้งนั้น
 
แม้เราอาจจะกลัวเมื่อต้องตกปากรับคำในการทำงานสุดหินที่ในใจก็ไม่รู้เลยว่าจะทำได้ไหม แต่คุณรู้อะไรไหมครับ ว่าบางครั้งงานสุดหินที่ถูกส่งมอบมาให้คุณ สิ่งที่ผู้มอบหมายงานต้องการจากคุณอาจจะไม่ได้เป็นความสำเร็จของงานชิ้นนั้นด้วยซ้ำ (เพราะบางงานก็ยากจริง ๆ คือสำเร็จได้ก็ดี ไม่สำเร็จก็ถือเป็นการเรียนรู้) แต่เขาอาจจะแค่อยากเห็นความพยายาม ความทุ่มเทของคุณในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย

5. เริ่มต้นบริหารจัดการ เงิน

เมื่อปี 2553 สำนักงานข้อมูลสถิติ เผยตัวเลขออกมาว่า คนไทยกว่า 97% มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณบวกกับมีหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก
 
ถ้าหากคุณเป็นคนที่บริหารจัดการเงินของตัวเองได้ดีอยู่แล้ว เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยเลย ผมแนะนำให้ลองเริ่มดูนะครับ อาจจะเริ่มต้นด้วยการทำงบ รายรับ-รายจ่าย ง่าย ๆ แล้วค่อยเริ่มขยับไปเป็นเรื่องของการลงทุน เพราะถ้าในชีวิตเราไม่วางแผนที่จะควบคุมเรื่องเงินเลย ในที่สุดแล้วเงินจะเป็นตัวที่ควบคุมเราแทน ผมคิดว่าเรื่องเงินนั้นจริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่เรื่องของการออกจาก Comfort Zone ที่บางคนเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำนะครับ

ครั้งถัดไปเมื่อคุณกำลังรู้สึกว่าต้องทำในสิ่งที่อยู่นอก Comfort Zone ของคุณ ก่อนที่จะหันหลังให้และปฏิเสธมัน ผมอยากให้คุณลองคิดทบทวนดูดี ๆ ครับว่า นี่เป็นโอกาสที่จะทำให้คุณเติบโตมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ ทำไมคุณจะไม่ลองทำมันดูสักหน่อยล่ะ

เหมือนกับที่ John C. Maxwell เคยกล่าวไว้ว่า “หากเรากำลังเติบโต เรากำลังอยู่นอก comfort zone ของเราเสมอ”

SOURCE : www.krungsri.com