เมื่อ GEN Y กว่า 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ และเป็นหนี้เสีย 7%
ในยุคที่ “GEN Y กว่า 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ ซึ่งเป็นหนี้เสียคิดเป็น 7%ของยอด NPL รวม” ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่ม GEN Y (อายุ 23 -38 ปี ) มีการกู้ 7.2 ล้านคน (คิดเป็น50% ของ GEN Y ทั้งหมด) โดยมีภาระหนี้อยู่ที่ 4.23 แสนบาทต่อคน ที่น่าสังเกตคือ 20% ของ GEN Y ที่กู้หรือ 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ผิดนัดชำระ ซึ่งคิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ ความน่าสนใจของ พฤติกรรมการเงินของกลุ่ม GEN Y ที่เป็นกลุ่มที่มีทัศนคติ บริโภคนิยม-ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้องคิด-ความสุขซื้อได้ด้วยประสบการณ์ ที่เป็นที่มา #ของมันต้องมี จริงๆแล้ว คน GEN Y มีอะไรแฝงมากกว่าที่คุณคิด
ศูนย์วิเคราะห์ TMB Analytics ร่วมกับ ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ได้ศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคน GEN Y ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังอยู่ในวัยทำงาน ผ่านแคมเปญ #ของมันต้องมีก่อน40 พบว่า ส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคง อยากมีบ้าน รถ และเงินออม แต่สวนทางกับพฤติกรรมการเงินที่ส่งผลให้ GEN Y ไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงิน เพราะติดกับดักจากการซื้อ #ของมันต้องมี
ปัจจุบันคนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล) 74% ของประชากรทั้งหมด เป็นอันดับ 8 ของโลก โดยสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมที่ครองใจคนไทยในยุคนี้ คือ Facebook มีผู้ใช้งานบน 56 ล้านบัญชี, Instagram 13 ล้านบัญชี และ Twitter 9.5 ล้านบัญชี โดยเฉลี่ยใน 1 วัน มีระยะเวลาที่ใช้งานคิดเป็น 3 ชั่วโมง 11 นาที และข้อมูลสำคัญยังพบว่า 80% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และกว่า 50% เป็นคน GEN Y อายุ 28-38 ปี
ทั้งนี้แต่ละแพลตฟอร์ม ผู้ใช้งานจะมีความแตกต่างกันออกไป เช่น Facebook จะเป็นไปในทิศทางที่แสดงออกถึงความจริงจังในชีวิต แสดงออกถึงตัวตนด้านที่อยากให้คนอื่นเห็น ทำให้ #ของมันต้องมีก่อน40 ของชาว Facebook ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความมั่นคง เช่น อยากมีเงินเก็บ บ้าน รถยนต์ ธุรกิจส่วนตัว ส่วน Twitter จะเป็นไปในแนวทางที่มีความอิสระเสรี เป็นตัวของตัวเอง มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกับความเห็นใน Facebook ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ต อยากเจอศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ และอยากเลี้ยงแมว
โดยผลสำรวจพฤติกรรมของ GEN Y บน โซเชียล พบว่า ความหวังของคน GEN Y #ของมันต้องมี ก่อนอายุ 40 คือ อยากมีบ้าน 48%, มีรถยนต์ 22% อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ 13% แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า คน GEN Y มีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจาก GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่บอกจะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย เพราะ GEN Y ส่วนใหญ่ติดกับดักใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” ถึง 69% ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝันมีสัดส่วนที่ลดลงมาก และมีเงินออมไม่ถึง 10% ซึ่งถ้านับเป็นเงิน GEN Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละ 95,518 บาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่นิยมซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา เครื่องประดับ
สาเหตุที่ GEN Y อยากได้ ของมันต้องมี เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอ้าท์ กว่า 42% มากกว่ามองเป็นของจำเป็น 37% แน่นอนว่าเมื่อซื้อของตามเทรนด์ คนส่วนใหญ่ กว่า 70% บอกมีเงินไม่พอในการซื้อ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย และพบว่า 74% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย ส่วนอีก 26% ไม่มีการผ่อนจ่าย ดังนั้นจึงเกิดเป็นหนี้เสีย
นัยยะที่แฝงอยู่ในพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” ของกลุ่มคน GEN Y พบว่า GEN Y กว่า 6.8 ล้านคน มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% ซึ่งถ้าเจาะลึกโครงสร้างทางการเงินของ GEN Y ที่มีการใช้จ่าย“ของมันต้องมี” จะสามารถแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย คือ
- “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี” พฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม โดยเมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่ม GEN Y
- “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้” ก็จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม กล่าวคือกลุ่มนี้พอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่น ๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ
พฤติกรรมเชิงลึกของกลุ่มคน GEN Y ที่ได้จุดกระแสผ่านบรรดา Influencer จะเห็นได้ว่าการแสดงความคิดเห็น แชร์ มีความคิดเห็นที่คล้ายคลึงกับ Influencer ที่กดติดตามกัน มีอิทธิพลทางความคิดให้ผู้ติดตามได้คล้อยตามง่าย ดังนั้นเมื่อเหล่า Influencer ลุกขึ้นมาทำอะไร จะเกิดกระแส เกิด Social Voice ในการทำตาม ซึ่งแน่นอนว่าในการทำแคมเปญครั้งนี้ เมื่อได้จุดกระแสออกไปแล้ว เกิดการตั้งคำถามให้กับกลุ่ม GEN Y ให้เกิดการฉุกคิดเกี่ยวกับเป้าหมายทางการเงิน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการวางแผนชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของ GEN Y มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง เมื่อเทียบกัน GEN Y ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายทางการเงินที่ดี เพราะถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี
ดังนั้น จะต้องทำอย่างไรให้กลุ่มคน GEN Y ปรับปรุงพฤติกรรมหรือมีวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน กระตุ้นการออมมากขึ้น โดยสิ่งแรกที่แนะนำคือ ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ง่ายๆ โดยลดลงแค่ 50% (เชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก) ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปีก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก คุณนริศกล่าวปิดท้าย ด้วยข้อเสนอแนะสำหรับ GEN Y เพื่อให้สามารถวางแผนทางการเงิน และประสบผลสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ได้ดียิ่งขึ้น