“คลัง” ย้ำไม่ได้เลื่อนเก็บภาษีที่ดินแค่ขยับเวลาให้ท้องถิ่นเตรียมพร้อม
13 ธ.ค. 2562 นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้เลื่อนออกไป เพราะเป็นการจัดเก็บภาษีปีละ 1 ครั้ง แต่เพื่อความพร้อมที่สุด กระทรวงมหาดไทย จึงใช้อำนาจตามกฎหมายขอขยายเวลาออกไป 4 เดือน จากเดิมที่จะต้องเสียภาษีในเดือน เม.ย.2563 เป็นเดือน ส.ค.2563 แทน เพื่อให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่กว่า 7,000 แห่ง ที่บางแห่งก็มีความพร้อมมาก ขณะที่บางแห่งยังดำเนินการไม่ทัน ให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ผู้เสียภาษีพร้อมกันทั้งประเทศ
“มหาดไทย ได้หารือกับคลังมาตลอด การขยายระยะเวลาออกไปอีก 4 เดือน หมายความว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 ก็มีเวลาหายใจไปเดือน พ.ค. การเสียภาษีจึงขยับไป ส.ค.2563 แต่สุดท้ายก็จ่ายอยู่ดี แค่ขยับเวลาออกไป 4 เดือน ทุกกระบวนการมีเวลาหายใจเพิ่มขึ้น ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง มีทั้งที่ดำเนินการทันและไม่ทัน โดยส่วนใหญ่เป็นท้องถิ่นขนาดเล็ก” นายลวรณ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่ได้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดิน ทุกอย่างยังมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เหมือนเดิม แต่กระบวนการเสียภาษี จะถูกเริ่มต้นในวันที่ 1 พ.ค.เพื่อ เพื่อตรวจสอบและทำการเสียภาษีในเดือน ส.ค. ทำให้ขั้นตอนช่วง พ.ค. ถึงก่อนจ่ายภาษี ท้องถิ่นจะมีพร้อม เช่น การประเมิน สำรวจที่ดิน ท้องถิ่นต้องรู้ที่ดินในเขตตัวเองมีกี่แปลง มีราคาเท่าไหร่ ประเภทสิ่งปลูกสร้าง ต้องรู้ ต้องไปประเมินเพื่อมาคำนวณ ก่อนส่งใบไปเรียกเก็บภาษีกับผู้ครอบครอง
นอกจากนี้ ในขั้นตอนกฎหมายภาษีที่ดิน ยังต้องมีการออกกฎหมายลูกอีก 19 ฉบับ แบ่งเป็นของกระทรวงการคลัง 8 ฉบับ โดย 7 ดำเนินการเสร็จแล้ว อีก 1 ฉบับที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บ จะออกภายใน 2 ปีที่มีการจัดเก็บภาษี หรือ ออกภายในปี 2565 ส่วนที่เหลืออีก 11 ฉบับ เป็นของกระทรวงมหาดไทย 6 ฉบับ โดย 2 ฉบับเสร็จแล้ว อีก 4 ฉบับเพิ่งผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ส่วนอีก 5 ฉบับที่เหลือเป็นกฎหมายร่วมระหว่างคลังและมหาดไทย ที่ต้องลงนามร่วมกัน โดย 4 ฉบับรมว.การคลังลงนามเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอมหาดไทยลงนาม เหลืออีก 1 ฉบับ เกี่ยวกับพื้นที่เกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ต้องให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะออกได้ภายในสิ้นปีนี้
"ระหว่างนี้ประชาชนที่ได้รับจดหมายให้จ่ายภาษี ก็ตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องตามที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครองหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็สามารถดำเนินการอุทธรณ์ได้ ภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการประเมิน หรือวันที่ได้รับหนังสือ" นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า กระทรวงการคลังประมาณการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีแรกได้ 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่จัดเก็บได้ 3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท โดยการเลื่อนจัดเก็บภาษี ไม่มีผลต่อรายได้ในภาพรวม ซึ่งการจัดเก็บภาษี เป็นหน้าที่ของมหาดไทยรับผิดชอบ ส่วนกระทรวงการคลังทำหน้าที่ในการให้ความรู้แก่ผู้เสียภาษี
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net