เปิดศักราชใหม่ ปี 2563 มาเพียงไม่กี่วันก็มีข่าวไม่สู้ดีต่อภาคเศรษฐกิจหลายเรื่อง โดยเฉพาะข่าวคราวความไม่สงบในฝั่งตะวันออกกลาง-สหรัฐฯ ที่ออกมาตอบโต้กันอย่างรุนแรง หลายคนออกความเห็นว่าความตึงเครียดนี้จะเพิ่มความรุนแรงให้ปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ยังสะท้อนภาวะชะลอตัว จากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การนำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเช่นกัน แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงไว้บางส่วน แต่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนก็มีการชะลอตัวลงมีเพียงการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงหนุนมาตรการ Visa on Arrivals ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งปี ประชุม กกร. คาดว่า ศรษฐกิจไทยในปี 2562 อาจขยายตัวเพียง 2.5%

ขณะที่ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมาจากในปี 2562 ทั้งผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของค่าเงิน และความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางจากกรณีสหรัฐฯและอิหร่าน ยังเป็นปัจจัยลบใหม่ ที่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจผลักดันให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่อง และภาวะแล้งที่รุนแรงในประเทศ ที่นอกจากจะกระทบผลผลิตและกำลังซื้อเกษตรกรแล้ว อาจมีผลให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นดังกล่าว จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของทางการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น

ซึ่งจากปัจจัยลบต่างๆ ที่ประชุม กกร. จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการบังคับใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมแผนรับมือฉุกเฉินจากปัญหาภัยแล้งและเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่เพียงจะมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ยังเชื่อมโยงถึงภาคการผลิตและการจ้างงานอีกด้วย  ส่วนโอกาสของประเทศไทยต้องสร้างบรรยากาศให้ดีเน้นเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย โดยเรายังศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นศูนย์กลางอาหารในภูมิภาค

สำหรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นั้น กกร. ประเมินว่า การส่งออกอาจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัดหรือมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัว 2.0% ถึง 0.0% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจขยายตัวราว 2.5-3.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.8-1.5% ซึ่งรองรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อาจยืนสูงที่ระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน        

 

              ทางด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) โดย นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2562 หดตัว -3% ถึง -2.5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท ปี 62 อยู่ที่ 33 (±0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์การส่งออกปี 63 เติบโต 0-1% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และหากค่าเงินบาทในปี 63 แข็งค่ากว่าที่ สรท. ตั้งสมมติฐานไว้การส่งออกอาจเสี่ยงติดลบถึง 5% โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ยังคงเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากแรงกดดันของเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า แม้ผลของค่าเงินบาทอาจทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตราคาถูกลง แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ เพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลอุปสงค์การบริโภคที่อ่อนแอลงต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับปริมาณผลผลิต ข้าว อ้อย ของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ  ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้วัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก

แน่นอนว่าความตึงเครียดจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของสหรัฐฯ-อิหร่าน ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึง 3% และยังเพิ่มความกังวลผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางอีกทั้งปริมาณน้ำมันดิบสำรองจากสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่ในความเสี่ยง การส่งออกไทย ก็ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ที่คอยช่วยพยุงให้ไปต่อได้ โดยเฉพาะการบรรลุความตกลงการค้า Phase 1 ระหว่างสหรัฐและจีน โดยสหรัฐระงับการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า  156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 15 ธ.ค. และการลดภาษีของสหรัฐจากสินค้าจีน 7.5% อีกทั้งจีนมีกำหนดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐที่มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ความตกลงดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะมีการลงนามวันที่ 15 มกราคม 2563 ณ กรุงปักกิ่ง ขณะที่จีนก็มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ กว่า 850 รายการ โดยมีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ ส่งผลให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงต้องจับตาจนกว่าจะมีผลบังคับใช้จริง ประกอบกับการอาจมีการเริ่มเจรจาความตกลงเฟส 2 ต่อเนื่องทันที

สำหรับภาพรวมส่งออกไทย ช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. 2562 รวมมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,054,237 ล้านบาท หดตัว -5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 6,873,512  ล้านบาท หดตัว -7.9% ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค. - พ.ย. 2562 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 180,725 ล้านบาท

        ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังคงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายเศรษฐกิจไทย ที่กระทบถึง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงอยู่ในโซนทรงตัวเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์การเมือง

      นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความคาดหวังนโยบายภาครัฐ รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน แต่นักลงทุนยังกังวลความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ทั้งนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจจากผลเจรจาทางการค้าภายหลังข้อตกลงทางการค้าขั้น 1 เป็นไปด้วยดีและแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในขั้นที่ 2  ทิศทางของ BREXIT ที่มีแนวโน้มให้อังกฤษออกจาก EU แบบได้ข้อตกลงทันเส้นตายภายหลังการเลือกตั้ง ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและอียูที่แนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในปี 2563 ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลปี 2563 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาการส่งออกจากค่าเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และนโยบายทางการเงินของธปท. ในปี 2563 เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม

      สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมกราคม 2563  โดยดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2563) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neural) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) โดยลดลง 8.17% มาอยู่ที่ระดับ 80.75 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish),ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish),ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral),ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish) ทั้งนี้หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการแพทย์ (HELTH) และหมวดธนาคาร (BANK) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

ในช่วงเดือนธันวาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวในช่วง 1548-1579 จุด โดยดัชนีปรับตัวลดลงในครึ่งเดือนแรกมาอยู่จุดต่ำสุดที่ 1548 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่บริเวณ 1570-1580 ในช่วงปลายเดือน โดยได้รับผลดีจากผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ที่เป็นไปได้ด้วยดี ขณะที่นักลงทุนคาดหวังแรงซื้อ LTF ในช่วงปลายปี