เศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2563
บทความโดย ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
เศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2563
ปี 2562 ที่พึ่งผ่านไปเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ (ประมาณ 1%) เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก
ผลตอบแทนของตลาดหุ้นในประเทศต่างๆในปี 2562
ที่มา : Bloomberg
อย่างไรก็ตามปี 2562 ก็เป็นปีที่ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณ 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ดังนั้นเมื่อรวมผลตอบแทนจากค่าเงินด้วยแล้วผลตอบแทนจากตลาดหุ้นต่างประเทศอาจจะไม่ได้สูงอย่างที่เห็น แต่ตลาดหุ้นต่างประเทศ (โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเช่นญี่ปุ่น ยุโรปและอเมริกา) ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย ทั้ง ๆที่เศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่สูงมากนัก อาจจะเนื่องมาจากการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ (ในยุโรปและญี่ปุ่นอัตราติดลบ) ทำให้มีสภาพคล่องมากเป็นพิเศษและเงินเหล่านี้ต้องหาที่ลงในสินทรัพย์ต่าง ๆ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ปี 2562
ที่มา: คาดการณ์ IMF
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ การลงทุนในปี 2563 มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสินทรัพย์หลายประเภทที่ราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในสองสามปีที่ผ่านมา ทำให้การเข้าไปลงทุนนั้นก็มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าจะเก็บเงินสดเอาไว้ ก็ได้ผลตอบแทนที่ต่ำในระยะยาว
ในบทความนี้เราจะลองมาวิเคราะห์ดูทิศทางเศรษฐกิจในปี 2563 และปีถัดๆไป พร้อมทั้งวิเคราะห์โอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ
ประเด็นแรกคืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในประเทศพัฒนาแล้ว และในประเทศไทย จะยังคงอยู่ถึงเมื่อไหร่ และอะไรอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางและอัตราดอกเบี้ยถึงจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันถ้าหากเราเป็นธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าหากปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือดึงเงินสภาพคล่องออกจากระบบก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้ง่าย ขนาดที่ว่าอัดฉีดกันมากขนาดนี้แล้วเศรษฐกิจยังไม่ค่อยเติบโต ถ้าลดสภาพคล่องลงมีโอกาสทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ ลองจินตนาการถึงว่าถ้าหากเรามีหนี้อยู่ 100 บาท และอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 1% หรือ 1 บาทต่อปี หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นแค่ 1% เป็น 2% จะทำให้ภาระดอกเบี้ยขึ้นมาเป็น 2 เท่าในทันที ถ้าหากเป็นคนที่ทำงานประจำหรือธุรกิจที่ต้องชำระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถึง 2 เท่าก็อาจจะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ และต้องกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด หนี้เสียจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบธนาคารและทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในที่สุด ซึ่งไม่มีธนาคารกลางหรือผู้นำรัฐบาลในประเทศใดต้องการจะเป็นต้นเหตุให้เกิด วิกฤตเศรษฐกิจ
ถ้าหากจะปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องล้นระบบต่อไปก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินจริงและเกิดการถล่มของราคาสินทรัพย์เสี่ยงในอนาคตได้ นโยบายดอกเบี้ยต่ำได้เคยถูกนำมาใช้แล้ว(และยังใช้อยู่)ที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยไม่สามารถที่จะอยู่ในระดับต่ำไปตลอดได้ ซึ่งปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นเช่นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้นตาม หรือว่าถ้าตลาดทุนมองว่าประเทศใดมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือค่าเงินประเทศนั้น ๆ เสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว (เช่นในเวเนซุเอลาเป็นต้น) การปรับตัวเหล่านี้ อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่ค่อย ๆ เกิดในช่วงระยะเวลานาน หรืออาจจะเกิดในระยะอันสั้นก็ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่สุดท้ายแล้วอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด
ในกรณีที่ค่าเงินเสื่อมค่าและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนที่ถือพันธบัตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งจากผลตอบแทนติดลบ (อัตราดอกเบี้ยขึ้นทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรติดลบ) และค่าของเงินต้นที่ลดลงจากการเสื่อมค่า ดังนั้นพันธบัตรระยะยาวทุกประเภทจึงมีความเสี่ยงทั้งหมด ณ สถานการณ์ในปัจจุบัน นักลงทุนจึงควรหลีกเลี่ยง
ในส่วนของตลาดหุ้น ค่า valuation ที่สูงในปัจจุบันก็มีโอกาสที่จะลดลงมาได้ถ้าดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทก็ยังน่าจะปรับตัวขึ้นได้ถ้าหากค่าเงินเสื่อมค่าลง (บริษัทที่แข็งแกร่งจะสามารถปรับราคาขายขึ้นได้) และบริษัทที่ดีก็อาจจะมีการขยายกิจการซึ่งทำให้กำไรเติบโตได้ เพราะฉะนั้นหุ้นจึงยังสามารถลงทุนได้ถ้าหากมีการคัดเลือกบริษัทที่แข็งแกร่งและมีมูลค่าที่ยังไม่แพงจนเกินไปได้
ทองคำ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถรักษามูลค่าได้ในช่วงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี (ยกตัวอย่างเช่นเราสามารถใช้ทองคำปริมาณ 1 ออนซ์ ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1,550 เหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อสูทชั้นดีได้ ในสมัยโรมันเราก็สามารถใช้ทองคำปริมาณเท่ากันซื้อเครื่องแต่งกายในระดับเดียวกันได้) นักลงทุนที่กลัวความเสี่ยงจากค่าเงินเสื่อมค่า หรือเงินเฟ้อ ยังสามารถลงทุนในทองคำเพื่อรักษามูลค่าของสินทรัพย์ได้ อย่างไรก็ตามข้อเสียของการลงทุนในทองคำคือมันไม่สร้างรายได้จากดอกเบี้ยหรือเงินปันผลนั่นเอง
อสังหาริมทรัพย์ ผู้ถือครองอาจจมีรายได้จากค่าเช่าและ ยังมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับขึ้นถ้าหากค่าเงินเสื่อมค่า แต่ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจจะทำให้สภาพคล่องลดต่ำลง หรือหาผู้ซื้อหรือผู้เช่าได้ยากขึ้นเช่นกัน
เงินสด อาจจะปลอดภัยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเรารู้ดีว่าผลตอบแทนไม่อาจจะสู้กับเงินเฟ้อหรือสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่นได้ ดังนั้นการลงทุนในปี 2563 จึงเป็นปีที่ท้าทายอย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้น
แล้วนักลงทุนควรจะทำอย่างไรดี? คงเป็นคำถามที่ทุกคนสงสัยอยู่ คำตอบก็คือเราคงไม่สามารถที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าสินทรัพย์ใดจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในปี 2563 หรือในอีกหลายปีข้างหน้า นักลงทุนจึงควรที่จะกระจายความเสี่ยงและกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆชนิด เช่นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เงินสด ในอัตราส่วนที่เหมาะสม (ยกเว้นตราสารหนี้ระยะยาวที่ผู้เขียนมองว่าไม่น่าสนใจลงทุน) ถ้าหากตลาดใดปรับตัวลง เราก็จะมีโอกาสในการซื้อสินทรัพย์นั้นในราคาที่ไม่แพง แต่ถ้าปรับตัวขึ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ การทำนายตลาดในระยะสั้นเป็นสิ่งที่ยาก ถ้าค่าเงินเสื่อมค่าก็มีทองและอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ถ้าดอกเบี้ยยังต่ำ หุ้นก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ดี การกระจายความเสี่ยงจึงเป็นแนวทางที่น่าจะดีที่สุดในปัจจุบัน
ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค จาก ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA. Email : tanapoom@uchicago.edu บทความโดย TerraBKK คลังความรู้สู่การลงทุนเพิ่มความมั่งคั่ง ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก