REIC เผย ม.รัฐ-ผ่อนปรน LTV ช่วยพยุงอสังหาฯ อาจดันยอดโอนโต -0.20 ถึง 7.3%
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 63 น่าจะมีภาวะค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องจากปี 62 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
จากปัจจัยบวกอัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง มาตรการกระตุ้นอสังหาของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และปัจจัยลบ ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวในหลายกิจกรรมศรษฐกิจที่สำคัญ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่ผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัย -0.2% เนื่องจากลูกค้าชาวจีนมีการชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ โดยเบื้องต้นคาดจะหายไปประมาณ 7,000 ล้านบาท ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ จากเดิมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อปีเฉลี่ย 29,000 ล้านบาท
สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศ คาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 372,500-400,660 หน่วย ขยายตัวระหว่าง -0.2% ถึง 7.3% และมีมูลค่าถึง 853,100-917,100 ล้านบาท ขยายตัว -2.5% ถึง 4.8% โดยจะมีการโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 197,500-214,300 หน่วย ขยายตัว -0.2% ถึง 8.3% และมีมูลค่าถึง 571,200-614,000 ล้านบาท ขยายตัว -0.2% ถึง 7.3% ซึ่งจะมีสัดส่วนหน่วย 53% และ มูลค่า 67%ของการโอนกรรมสิทธ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ
ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400-126,780 หน่วย เป็นมูลค่าถึงประมาณ 284,360-305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีสัดส่วนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ 73.6%และ มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 78.1% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 คาดว่าจะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้าง เนื่องจากสาเหตุการระบาดไวรัสโคโรนาบ้าง แต่มีผลกระทบไม่มากเนื่องจาก ผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนพียง 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น
หน่วยที่อยู่อาศัยจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 63 จะอยู่ประมาณ 114,400-122,600 หน่วย โดยเป็นห้องชุดประมาณ 55% หรือประมาณ 62,900 ถึง 67,400 หน่วย โดยการขอใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 ประมาณ 97,500 ถึง 100,400 หน่วย และจะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลประมาณ 58.4%
การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศประมาณการว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 ประมาณ 292,100-300,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 27.4% หรือประมาณ 80,000 ถึง 82,400 หน่วย และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 62 แต่อาจมากกว่าเล็กน้อยประมาณ 129,000 ถึง 132,900 หน่วย โดยมีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดประมาณ 51.1% หรือประมาณ 65,900-67,900 หน่วย ซึ่งหมายความว่า 82% ของอาคารชุดที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วประเทศจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 62 มีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) รวมจำนวน 258,000 ยูนิต มูลค่ารวมประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมาตราการต่างๆ ยังคงอยู่ในภาวะปัจจุบัน (อัตราดอกเบี้ยต่ำและเป็นขาลง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ในแง่การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV) จะทำให้ ณ สิ้นปี 63 จำนวนสต็อกดังกล่าวจะลดลงเหลืออยู่ที่ระดับ 218,000 ยูนิต มูลค่ารวมประมาณ 0.97 ล้านล้านบาท
นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ กล่าวว่า สำหรับปี 63 นี้ ทางศูนย์ฯ จะยังทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ภาคอสังหาฯ และสังคม อย่างต่อเนื่อง และการให้ข้อมูลและผลการวิเคราะห์จะตรงกับความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้นำข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้นใช้เพื่อสนับสนุนใน 3 ระดับอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากที่มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการในการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ในปี 62 และให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ดังเช่นยอดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ในปี 62 สามารถปรับตัวจากการขยายตัวติดลบถึง -8.4% กลับมาเป็นบวกถึง 2.7% และในปี 61 ที่ศูนย์ฯ ได้นำเสนอข้อมูลสู่สังคมและสาธารณชน รวมถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่ายังไม่มีสถานการณ์ของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในขณะนั้นแต่อย่างไร และทิศทางในปี 62 ก็จะไม่มีภาวะฟองสบู่เช่นกัน
นอกจากนี้ เตรียมยกระดับบทบาทให้เป็นศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ ซึ่งจะต้องพัฒนาเพิ่มเติมในด้าน "การสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็น "บิ๊กดาต้า" เพื่อใช้วิเคราะห์ได้หลากหลายมิติ และต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เป็น Benefits Center โดยต้องเอื้อประโยชน์ต่อทุกหน่วยงาน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์