สุขภาพจิตของ social media influencers
เพราะอะไรสุขภาพจิตของ social media influencer ถึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป
1. งานของคนที่ทำงานทั่วไปส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ feedback ทันที แต่สำหรับงานของ social media influencer นั้น feedback ที่พวกเขาได้รับมักจะเกิดขึ้นทันทีจากการที่แฟนๆ กดชอบบ้างหรือกดแชร์บ้าง ซึ่งการได้ feedback ที่ดีมันก็เป็นดาบสองคมตรงที่ว่า ยิ่งคนกดชอบเรามาก เราก็จะยิ่งดีใจมาก แต่ด้วยเหตุผลที่เราได้ feedback ทันทีนั้นทำให้เราสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าปกติกับความรู้สึกดีๆ ที่เราได้รับมา จากแต่ก่อนเราเคยดีใจจากการเห็นคน 100 คนกดชอบเรา พอมาอีกวันหนึ่งความสุขที่เราได้รับจากการเห็นคน 100 คนกดชอบเราก็ไม่พออีกต่อไปแล้ว มันจะต้องมีคนกดชอบเราถึง 1,000 คนเท่านั้นเราถึงจะรู้สึกดีเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการได้ feedback เร็วๆ อย่างนี้ทำให้ความทะเยอทะยาน หรือ aspiration ของเราเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปกติมาก และโอกาสที่เราจะไม่พอใจใน feedback ที่เราควรจะพอใจมันก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปตามๆ กัน
2. นอกจาก feedback ที่ดีแล้ว โอกาสที่เราจะได้รับ feedback ที่ไม่ดีก็มีเยอะอยู่เหมือนกัน feedback ที่ไม่ดีนั้นอาจจะมาจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ social media influencer โพสต์ หรืออาจจะมาจากนักเลงคีย์บอร์ดที่ชอบด่าเอามันอย่างเดียว อันนี้ผมคงจะไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าการมีคนด่าคุณเยอะๆ จะทำให้คุณรวยขึ้นจากยอด engagement ก็ตาม การถูกคนอื่นด่ามักจะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคุณทั้งนั้น ถึงแม้คุณจะบอกว่าคุณไม่สนใจมันก็ตาม (เพราะว่านั่นคือธรรมชาติของมนุษย์เรานะครับ)
3. Social media influencer ทั้งหลายมักจะเจอแรงกดดันให้ผลิตเนื้อหาทุกวัน ไม่ว่าวันนั้นพวกเขาจะไม่มีอารมณ์ในการที่อยากจะ entertain ใครๆ ก็ตาม เพราะถ้าไม่ผลิตอะไรออกมาทุกวัน โอกาสที่พวกเขาจะเสียจำนวนผู้ชม (และจำนวน sponsors ทั้งหลาย) ก็จะสูง มันจึงเป็นอะไรที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอัตราของการ burnout ของ social media influencer จึงค่อนข้างสูง
4. Social media influencer ทั้งหลายอาจจะต้องโพสต์ในแต่เนื้อหาที่ขัดกับความรู้สึกจริงๆ ที่ตัวเองกำลังรู้สึกอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น ถ้าภาพพจน์ของตัวเขาใน social media เป็นคนที่ entertain อยู่ตลอดเวลา เขาก็จำเป็นที่จะต้องสร้างภาพและคงภาพลักษณ์อันนั้นไว้ในเนื้อหาที่เขาโพสต์ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วความรู้สึกของเขาอาจจะ complex กว่าตัวเขาที่คนอื่นๆ มองหรือเห็นเขาก็ได้ ความรู้สึกขัดแย้งระหว่างตัวเขาที่เป็น social media influencer และตัวเขาที่เป็นเขาจริงๆ อาจจะทำให้เขารู้สึกสับสนและอาจจะมีผลทางด้านลบต่อสุขภาพจิตของเขาได้
5. เนื้อหาที่คนส่วนใหญ่อยากจะเสพจาก social media influencer อาจจะไม่ใช่เนื้อหาที่ตอบโจทย์ “ความหมาย” ของ social media influencer เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น คนเสพอาจจะอยากเสพแค่เนื้อหาที่ entertain แต่ไม่อยากเสพเนื้อหาที่มีสาระ หรือที่มีคุณประโยชน์ระยะยาวต่อความสุขของพวกเขาได้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำเนื้อหาออกมา ก็อาจจะเจอ demand-pull ของคนที่เสพเนื้อหาเหล่านี้ทำให้พวกเขาผลิตแต่เนื้อหาที่แค่ entertain ก็พอ ซึ่งถ้าทำไปนานๆ เข้าsocial media influencer หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า “นี่เราทำอะไรกับชีวิตของเราอยู่เนี่ย” (ซึ่งจริงๆ แล้วข้อ 5 นี้ apply กับงานที่เจอ demand-pull จากความต้องการที่จะสุขแค่ระยะสั้นของคนที่เสพเนื้อหาเกือบทุกงานเลยนะครับ ไม่ใช่แค่งานของ social media influencer เพียงอย่างเดียว) และด้วยเหตุผลห้าข้อใหญ่ๆ นี้นี่เองที่ทำให้ social media influencer หลายคนรู้สึก burnout หรือรู้สึกว่าสุขภาพจิตของตัวเองแย่ (แต่บอกใครไม่ได้) หรืออาจจะรู้สึกสับสนว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
วิธีการบรรเทาและเยียวยาอาจจะเป็นการบังคับให้ตัวเองมีเบรกจาก social media บ้างนะครับ พยายามไม่อ่าน feedback บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น feedback ทางด้านบวกหรือลบก็ตาม พยายามโชว์ตัวจริงของเราในหลายๆ ด้านให้กับแฟนๆ ได้รู้ว่าเราก็ complex พอสมควร และก็พยายามใส่ความหมาย (meaning) ลงไปในเนื้อหาของเราเยอะๆ ด้วยก็น่าจะดีนะครับ
SOURCE : www.thaipublica.org