ไวรัส COVID-19 หนุนคนจีนซื้อของออนไลน์พุ่ง 154%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ประชาชนเลี่ยงการออกไปที่สาธารณะและใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้การค้าออนไลน์ (e-Commerce) เป็นอีกหนึ่งช่องทางการค้าสำคัญที่จะช่วยเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่จีนมีความต้องการสูงในระยะนี้ รวมถึงสินค้าที่ใช้ในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์-ของตกแต่งขนาดเล็ก สินค้ากลุ่มอโรมา-ผลิตภัณฑ์สปา
ข้อมูลจาก JD.com ระบุว่ายอดการสั่งซื้อข้าวและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นกว่า 154% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับสินค้าอาหารทะเล และเนื้อวัว และยังมีรายงานว่าประชาชนส่วนใหญ่นิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ร้านอาหารหลายแห่งเริ่มปรับตัวและให้บริการร่วมกับแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ปรับระยะทางของการส่งอาหารให้ไกลขึ้น จำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ต และยังพบว่าคนจีนมีสถิติการค้นหากิจกรรมออนไลน์ อาทิ เกมส์ออนไลน์ ออกกำลังกายผ่านแอพพลิเคชั่น และบริการปรึกษาทางการแพทย์
ขณะนี้ทั่วโลกกำลังติดตามความคืบหน้าการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าในระยะข้างหน้า โดยองค์กรวิจัยด้านเศรษฐกิจ EIU คาดการณ์ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาสแรก และประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 5.4% สนค. คาดว่ารัฐบาลจีนจะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาหลังจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศกว่า 62 แห่ง ใน 42 ประเทศทั่วโลกได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าต่าง ๆ มายังกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งให้ผู้ส่งออกทราบสถานการณ์และปรับแผนการส่งออกอย่างทันท่วงที
"ในปี 2562 การส่งออกจากไทยไปจีน มีมูลค่า 29,172 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจีนเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และเมืองส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ กวางตุ้ง (ร้อยละ 28.0) เซี่ยงไฮ้ (ร้อยละ 26.0) และซานตง (ร้อยละ 14.0) ตามลำดับ โดยในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้วางแผนในการทำตลาดจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการส่งออกสินค้าศักยภาพที่การส่งออกจากไทยไปจีนมีการขยายตัวสูง โดยเน้นทั้งเมืองใหญ่และการเจาะตลาดลึกในรายมณฑลสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะขับเคลื่อนการส่งออกไปจีนในปี 2563 เช่น ผลไม้สดแช่แข็ง และผลไม้แห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องสำอาง รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น"
สำหรับอีคอมเมิร์ซ และบริการดิจิทัลคอนเทนต์กำลังมาแรง ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยการไปรษณีย์สาธารณรัฐประชาชนจีน (State Post Bureau of China) ประชุมร่วมกับบริษัทขนส่งรายใหญ่ 7 บริษัท ได้แก่ Zhongtong, Yuantong, Shentong, Yunda, Best, Debang and Suning เตรียมความพร้อมด้านการขนส่ง เพื่อสนับสนุนความต้องการผ่านทางช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งได้เริ่มขนส่งตามปกติแล้ว และคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้การขนส่งประมาณ 40% จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
"ภาคบริการกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโตและขยายโอกาสทางการค้า ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสดีสำหรับไทยในการตีตลาดกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ละครหรือรายการทีวี ที่เริ่มได้รับความนิยมสูงในจีน และใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทย รวมถึงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการรับรู้และกระตุ้นความต้องการต่อสินค้าและบริการไทยมากขึ้น หากสถานการณ์คลี่คลายโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว"
สำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้า ท่าเรือสินค้า ด่านศุลกากรและหน่วยงานต่างๆ กลับมาเปิดทำการปกติแล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2563 (ยกเว้น ในมณฑลหูเป่ยที่ยังคงปิดทำการ มีเพียงบางแห่ง เช่น ท่าเรือหยางหลัวในอู่ฮั่นที่เปิดเป็นท่าสำหรับรับสินค้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด) และคาดว่าอาจใช้ระยะเวลา 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อทยอยระบายสินค้าที่ยังค้างอยู่ในช่วงปิดทำการ ก่อนกลับเข้าสู่การจราจรปกติ
อย่างไรก็ดี บางแห่งอาจมีความล่าช้าอยู่บ้างจากสินค้าหนาแน่น และพนักงานบางส่วนยังคงปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from home) ดังนั้น ในระยะนี้ที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ส่งออกควรประสานคู่ค้าท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อขอคำแนะนำเส้นทางการขึ้นสินค้าที่เหมาะสม รวมทั้งการหาห้องเย็นและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเก็บรักษาสินค้าที่เน่าเสียง่าย ระหว่างรอดำเนินการ
ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)