ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.พ. 63 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากไวรัส COVID-19 กระทบเศรษฐกิจโดยตรง ชี้ภาครัฐฯควรเพิ่มมาตรการควบคุม COVID-19 พร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกว่า จากความกังวลต่อการชะลอตัวและอุปสงค์ และกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การดำเนินกิจการประสบปัญหาด้านการผลิต การจำหน่าย รวมทั้งการขนส่งสินค้าและการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนที่มีความล่าช้า ขณะที่ปัญหาภัยแล้งก็ส่งผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบการเกษตรลดลง นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในโครงการก่อสร้างของภาครัฐยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย

       โดยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.2  ในเดือนมกราคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า

 

 

        จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,209 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 65.8 มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลเกี่ยวกับการส่งออกของไทย และภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลงทั้งในเดือนนี้ และคาดการณ์ไปอีก 3 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ร้อยละ 48.6 มองว่าจะมีความกังวลลดลง หากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ปรับตัวเพราะส่วนใหญ่กังวลการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าทำให้กระทบต่อและการลงทุนภาครัฐ  ในมุมมองผู้ส่งออกร้อยละ 48.2  มองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์)และราคาน้ำมัน ร้อยละ 32.1 ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในลักษณะทรงตัว ร้อยละ 19.8

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 98.1 โดยลดลงจาก 99.4  ในเดือนมกราคม 2563 โดยค่าดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 45 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 เพราะผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปโดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ       ในประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง

อย่างไรก็ดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอเสนอให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการและสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และขอให้ภาครัฐออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการในระยะสั้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะยาว เช่น มาตรการทางด้านภาษี

 

ส.อ.ท. แนะนำผู้ประกอบการ ควรวางแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ รับมือไวรัส COVID-19

        ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  แนะนำสมาชิก,ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้เตรียมแผนรับมือ ด้วยการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Plan (BCP)

  • จัดเตรียมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) โดยการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานภายใต้สภาวะฉุกเฉิน เช่น การปฏิบัติงานจากบ้าน (Work from home)
  • สื่อสารและให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความตื่นตระหนก โดยเน้นการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
  • จัดสรรแยกกลุ่มพนักงานเพื่อบริหารความเสี่ยง อย่างน้อยออกเป็น 2 กลุ่ม ลดการพบปะกันโดยตรง และนำ Video Conference มาใช้ในการสนทนาและประชุม
  • ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส เช่น ใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้าเข้า-ออกงานแทนการสแกนนิ้วมือ รวมถึงการชำระเงินผ่านการสแกน QR Code
  • ประเมินคู่ค้า วางแผนสำรอง และหาแหล่งทดแทนด้วยการตรวจสอบความสามารถในการผลิตและขนส่ง วิเคราะห์ความเสี่ยงด้าน Supply Chain จากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาด และเตรียมหาแหล่งวัตถุดิบสำรองภายในประเทศทดแทน และ
  • ถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินด้วยประกันภัย ที่สามารถช่วยคุ้มครองค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ และชดเชยให้บริษัทในกรณีมีบุคลากรหลักเสียชีวิต เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)