เปิดไทม์ไลน์ “ซอฟต์โลน 1.5 แสนล้าน” อุ้มธุรกิจไทย ช่วงโควิด 19 ได้แค่ไหน?
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลมีประกาศปิดสถานบริการ-บันเทิง ทำผู้ประกอบการ-พนักงาน กระทบหนักขาดรายได้เข้าร้าน ซึ่งจากข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ประเมินว่า หากรัฐบาลประกาศปิดประเทศจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเสียหายมูลค่าเดือนละ 240,000 ล้านบาท หรือ 8,000 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็นความเสียหายจากนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท หรือ 6,000 ล้านบาทต่อวัน และ ผลกระทบจากการค้าชายแดนต้องหยุดชะงักลง 60,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,000 ล้านบาทต่อวัน
แน่นอนว่าภาคธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึงแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม จึงเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกชุดมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจไทย
ครม. ออกชุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน
ในวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีมาตรการด้านการเงิน,ภาษี และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 150,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงิน ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
ออมสิน อัดซอฟต์โลน 1.5 แสนล้าน ช่วยผู้กระทบโควิด19
ในวันที่ 13 มีนาคม 2563 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีความพร้อมปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) 1.5 แสนล้านบาท ให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐนำไปปล่อยกู้ต่อเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอัตราดอกเบี้ย 2% ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยธนาคารมีสภาพคล่องเหลือมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอรองรับได้
สำหรับการจัดสรรวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนทั้ง 1.5 แสนล้านบาท จะเป็นของ ธนาคารออมสินเอง 10% ประมาณ 1.5หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจัดสรรเป็นโควตาให้ธนาคารตามขนาดหากมีลูกค้ามากก็จะได้รับวงเงินมาก ซึ่งแตกต่างจากซอฟท์โลนครั้งก่อนที่ใช้วิธีใครขอกู้ก่อนมีสิทธิก่อน และมั่นใจว่าวงเงินสินเชื่อรอบนี้จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจที่เดือดร้อนได้ทั่วถึงทุกกลุ่ม เพราะมีการจำกัดวงเงินกู้ให้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง ทำให้วงเงินกระจายออกไปได้หลายราย
ทั้งนี้มาตรการ ครอบคลุมกลุ่มลูกค้ารายย่อย สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบุคคล ตลอดจนสินเชื่อเอสเอ็มอี ประกอบด้วย การพักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี ให้ชำระแต่ดอกเบี้ย 50-100% ของดอกเบี้ยประจำงวด (ในอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 4% ต่อเนื่อง 1 ปี แล้วธนาคารฯ จะจ่ายคืนดอกเบี้ยให้ 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระนั้นคืนให้ลูกค้าทุก 6 เดือน จำนวน 2 ครั้ง ระยะเวลา 1 ปี โดยในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือที่ชำระไม่ครบนั้น ให้เฉลี่ยจ่ายคืนสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาพักชำระเงินต้นแต่สูงสุดไม่เกิน 4 ปี โดยการเข้ามาตรการนี้ลูกค้าจะยังคงสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ ไม่เข้าติดเครดิตบูโรแต่อย่างใด
ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ระหว่างธนาคารออมสิน กับ สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวม 20 แห่ง ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือ VDO Conference
“คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่น้อยกว่า 7,500 ราย และจากเครือข่ายสาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งเข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้เม็ดเงินจากโครงการนี้เข้าถึงลูกค้าและระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวล มีความเข้มแข็งที่จะดำเนินกิจการภายใต้ความกดดันของพิษภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ได้”
ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประเมิน “โควิด 19” กระทบธุรกิจ มากกว่า 6 เดือน
ทางด้านผู้ประกอบการนำเที่ยว ระบุว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมไทย พบว่าอัตราการจองลดลงอย่างมากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม จากการปิดประเทศในหลายชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะเห็นธุรกิจเอสเอ็มอีท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีกว่า 6 หมื่นราย มีจำนวนแรงงานที่ทำงานในภาคท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน จะยิ่งทยอยปิดตัวลงมากขึ้นเพราะไปต่อไม่ไหว หากไม่ได้รับซอฟต์โลนก้อนใหม่อย่างเร่งด่วน
ธุรกิจท่องเที่ยว เสนอ ธ.พาณิชย์ ปลดล็อกเงื่อนไขสินเชื่อซอฟต์โลน
แม้ว่ารัฐบาลได้ออก มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบกู้ในอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี แต่ในส่วนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวตอนนี้ แหล่งข่าวออกมาระบุว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์พิจารณาตามเงื่อนไขการปล่อยกู้ปกติของสถาบันการเงิน
ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.ได้พยายามเจรจากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อประสานและเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขบางข้อ เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงซอฟต์โลนและนำเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง และเป็นการต่อลมหายใจให้กับกลุ่มเอกชนท่องเที่ยวพยุงธุรกิจให้เดินต่อไปได้ โดยเสนอ
- ขอให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้อยู่แล้วสามารถพักการชำระเงินต้นอย่างน้อย 12 เดือน, ลดชำระดอกเบี้ย 50% อย่างน้อย 12 เดือนและขอกู้เพิ่มได้เต็มวงเงินเดิมที่เคยได้รับ
- ในส่วนของ soft loan สำหรับเสริมสภาพคล่องนั้นให้ working capital อย่างน้อย 6 เดือน ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย พร้อมขอกันวงเงินกู้เร่งด่วน3,000 ล้านบาท ภายใน 31 มีนาคม 2563 จากธนาคารออมสินโดยตรง จากยอดวงเงินเยียวยาที่รัฐบาลกำหนด 150,000 ล้าน โดยมีคณะทำงานจาก สทท.เข้าไปเป็นคณะทำงานติดตามผล
ทั้งนี้ ผู้ขอกู้จะมีเอกสารรับรองจาก สทท.โดยเอกสารประกอบจากค่าใช้จ่ายจริง เช่น เงินเดือน (ประกันสังคม/ภ.ง.ด.) และขอให้ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือให้ บสย.ค้ำประกันแทน พร้อมผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการที่ติดเครดิตบูโร นอกจากนั้นยังขอวงเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับการยังชีพให้กับบุคคลผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย โดยให้ยกเว้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขอให้ บสย.ค้ำประกันแทน และผ่อนปรนสำหรับผู้ที่ติดเครดิตบูโรเช่นกัน โดยใช้เอกสารประกอบจากค่าใช้จ่ายจริง
เสนอรัฐ อัดฉีดซอฟท์โลนดอกเบี้ย 0% 5 แสนล้านบาท หนุนธุรกิจ SMEs
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตนี้รัฐบาลควรคิดให้ครบกรอบในหลายด้าน เพื่อรองรับปัญหาให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องอธิบายยาว ดังนั้นจึงขอแนะนำ 4 เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบางควรต้องทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยให้ รัฐบาล และ กระทรวงการคลัง ร่วมกับ ธนาคารแห่งประะทศไทย ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% พร้อมเตรียมวงเงินซอฟท์โลน อัตราดอกเบี้ย 0% จำนวน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบให้ประคองตัวให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปให้ได้
ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0% เช่นกัน และประกาศอัดฉีดเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญ การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของไทยลงเหลือ 0% เหมือนของสหรัฐ จะช่วยลดภาระของธุรกิจได้มาก และจะลดภาระของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ อีกทั้งยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพื่อช่วยการส่งออก และจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น
โดยไม่ต้องห่วงเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่ำมากเหลือเพียง 20 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาเรลเท่านั้น จากสงครามราคาน้ำมันของประเทศซาอุดิอาราเบีย และ ประเทศรัสเซีย อีกทั้งการออกซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท แก่ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ ที่อัตราดอกเบี้ย 0 % เพื่อประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน แบงต์ชาติต้องขอความร่วมมือแกมบังคับจากธนาคารพาณิชย์ให้ลดค่าใช้จ่ายในการลดอัตราดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจลงเช่นกัน โดยรัฐบาลยอมร่วมออกบางส่วนและธนาคารพาณิชย์ควรต้องเฉือนเนื้อตัดกำไรบ้างเพื่อช่วยสนับสนุนด้วย
หลังจากปีที่แล้วที่ธนาคารพาณิชย์กำไรถึง 2.7 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 30.8% โดยซอฟท์โลนนี้อาจจะต้องให้ยาวไปถึงหลังวิกฤตผ่านไปแล้วด้วย เพื่อให้หน่วยธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้ การที่จะต้องออกนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้สอดคล้องกันเป็นเรื่องจำเป็นในภาวะเช่นนี้ และรัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาลดภาษีหลายด้านเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในภาวะวิกฤตประเทศต้องการมาตรการที่รุนแรงเฉียบพลันและได้ผล ซึ่งจะมาคิดแบบอนุรักษ์นิยมเหมือนในภาวะปกติไม่ได้
คลัง เตรียมชง ครม.อังคารนี้ อุ้มลูกจ้างตกงาน เน้นกลุ่มกิจการที่รัฐประกาศให้หยุด คาดขอเพิ่ม 4,000บ./คน
ในวันอังคารที่ 24 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังมีมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 2 เตรียมเสนอต่อที่ประชุมครม. โดยมาตรการออกมาเน้นดูแลประชาชน รายย่อย และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ โดยหลังจากนี้ครม.เศรษฐกิจ จะหารือกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อหารือมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม
“กระทรวงการคลังกำลังสรุปข้อเสนอทั้งหมดเข้า ครม. ขอให้รออีก 2 วัน จะมีความชัดเจนของมาตรการออกมา ถ้ามาตรการชุดที่ 2 ไม่พอ รัฐบาลพร้อมออกชุดที่ 3 มาช่วย เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน และรายย่อย”
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการที่คลังเตรียมเสนอครม.เป็นมาตรการที่จะเข้าไปดูแลลูกจ้างที่กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และลูกจ้างในกิจการที่รัฐประกาศให้หยุดกิจการชั่วคราว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด โดยจะมีมาตรการทั้งด้านการเงิน และมาตรการเติมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกจ้างดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อรัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการก็ต้องมีมาตรการไปช่วยดูแล ซึ่งมาตรการที่ออกมานั้นเป็นส่วนเสริมจากประกันสังคมที่จ่ายชดเชยการหยุดงานให้ รวมถึงมาตรการที่จะออกมานั้นจะครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีหลายแนวทางที่จะดูแล
เมื่อถามว่าจะมีการแจกเงินอีกไหม โดยเฉพาะการแจกเงิน 2,000 บาทที่รัฐบาลเคยมีแนวคิดก่อนหน้านี้นายประสงค์ กล่าวว่า ขอให้รอดูการประชุมครม.วันอังคารนี้ มาตรการอาจดีกว่าคิดกัน ซึ่งหลังจากมาตรการผ่านครม.แล้ว จะมีผลทันที ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินที่จะดูแลกลุ่มคนดังกล่าวและเตรียมพร้อมวงเงินไว้แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะขอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2563 จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ว่างงานจากคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน โดยผู้ว่างงานเหล่านี้จะได้รับการแจกเงินคนละ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมจะได้รับคนละ 4,000 บาท
นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบการที่รัฐสั่ง “ปิดชั่วคราว” จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือดังนี้ ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท) สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากโควิด-19 ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท)
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม กำหนดให้การจ่ายชดเชย กรณีว่างงานสูงสุด ไม่เกินรายละ 15,000 บาท ในกรณีการจ่ายชดเชยจากสถานการณ์ปัญหาไวรัสโควิด มติคณะกรรมการประกันสังคมให้ชดเชยรายละ 50% เท่ากับไม่เกิน รายละ 7,500 ของเงินชดเชยสูงสุด 15,000 บาท