วิกฤต COVID-19? จากบทเรียนของเกาหลีใต้และไต้หวัน
สถานการณ์ของวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ในประเทศไทยที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเพียง 2 วันเท่านั้น (22-23 มีนาคม) ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 311 คน
Source : https://www.worldometers.info/coronavirus/
ในขณะเดียวกัน ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า (เฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่ซูเปอร์มาร์เก็ต) แต่แทนที่ความกังวลใจจะเบาบางลง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องกุมขมับอีกครั้ง เมื่อพบว่ามีประชากรจำนวนมากกำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะทำให้เกิด Super spread ได้เกินการควบคุม
ทำให้ในตอนนี้ ประชาชนและสื่อมวลชนต่างพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการและควบคุมประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายจากกรุงเทพมหานครสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด พร้อมทั้งยังติดตามว่าภาครัฐจะมีวิธีการและมาตรการอย่างไร ประเทศไทยกำลังดำเนินมาตรการอย่างถูกทางหรือไม่?
เมื่อย้อนกลับไปดูมาตรการของ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ก็พบว่าทั้งสองประเทศเหล่านี้ ล้วนมีจุดร่วมเหมือนกันในการดำเนินมาตรการและการจัดการ นั่นก็คือคือความ ชัดเจน ฉับไว ทั่วถึง และเด็ดขาด
เกาหลีใต้ กับการตรวจให้เยอะที่สุด เพื่อป้องกันให้มากที่สุด
จากจุดเริ่มต้นที่มีคุณป้าวัย 61 ปี ที่กลายมาเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ไม่ระมัดระวังตัวจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ Super spread ในเกาหลีใต้ ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก รัฐบาลเกาหลีใต้ที่ในตอนแรกถูกมองว่าไม่จริงจังกับการเตรียมการเฝ้าระวังและป้องกัน ได้ยกระดับการป้องกันเข้าสู่ชั้นสูงสุดทันที โดยสั่งการให้ยกเลิกกิจกรรมที่มีการชุมนม ยกเลิกอีเว้นท์ และให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดเทอม
..แม้ว่าอาจจะดูช้าไปหน่อย แต่เกาหลีใต้ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรสายเกินไป
มาตรการการตรวจสอบผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นได้เริ่มต้นขึ้น จากการอนุมัติงบประมาณทันทีเกือบ 8 แสนล้านบาท เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เงินจำนวนนี้ถูกจัดสรรได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการเพิ่มจุดตรวจสอบโรคให้มีผู้เข้ารับการตรวจได้ถึง 15,000 รายต่อวัน ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าทำไมตัวเลขของผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้ถึงทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือได้ลดขั้นตอนของการตรวจ โดยได้กระจายจุดตรวจเฉพาะที่แบบ Drive-thru เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดการสัมผัส ทำให้สามารถลดระยะเวลาการตรวจให้เหลือเพียง 10 นาที สิ่งนี้เองคือไม้ผลัดที่ส่งต่อให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถดำเนินการต่อได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ในตอนนี้เกาหลีใต้จะยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 64 คน แต่หากมองย้อนหลังนับว่ามีอัตราการลดลงของผู้ติดเชื้อใหม่ที่รวดเร็วมาก
ไต้หวัน ความรวดเร็วและเด็ดขาด ภายใต้ศูนย์บัญชาการกลาง
นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งจากจีนว่าในพื้นที่อู่ฮั่น มีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชนิดใหม่ที่ไม่รู้จักรายหลาย ในตอนนั้นรัฐบาลไต้หวันได้บังคับการให้กรมควบคุมโรคตรวจสอบผู้โดยสารที่มาจากอู่ฮั่นในทันที รวมถึงออกมาตรการกำหนดให้โรงพยาบาลทำการทดสอบและรายงานผู้ติดเชื้อ คัดแยกผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่ไต้หวันจะออกมาประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรก เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563
ความรวดเร็วในการบริหารจัดการ เกิดขึ้นจากศูนย์บัญชาการกลาง Central Epidemic Command Center ที่ได้ก่อตั้งขึ้นวันที่ 20 มกราคม หนึ่งวันก่อนการออกมายืนยันว่ามีผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการ โดยศูนย์บัญชาการกลางนี้ได้ออกมาตรการกำกับและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมาแล้วอย่างน้อย 124 รายการ
นอกจากความรวดเร็วในการบริหารจัดการแล้ว รัฐบาลไต้หวันยังดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ปกปิดอาการ โดยได้ดำเนินการปรับถึง 10,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 300,000 บาท อีกด้านหนึ่งคือความเด็ดขาดด้านการแจกจ่ายอุปกรณ์อนามัยให้กับประชาชน โดยได้กำหนดเพดานราคาของหน้ากากอนามัยให้จำหน่ายมี่ชิ้นละประมาณ 0.17 บาท พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบร้านจัดจำหน่ายไม่ให้มีการจำหน่ายเกินราคาทุกวัน
ความพร้อมด้านการบริหารจัดการที่ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ทำให้ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียงแค่ 169 คน และมีอัตราผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น