เราก็ไม่อยากกลับ เพราะว่าเราไม่อยากไปปล่อยเชื้อให้คนทางบ้าน จริงๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะติดหรือเปล่า แต่มันจำเป็นจริงๆที่จะต้องกลับ ..ไม่มีรายได้เลย ต้องกินต้องใช้ทุกวัน บ้านก็ต้องส่ง ต้องส่งที่บ้านด้วย

..มันไม่ไหวจริงๆ พี่คิดจนพี่เครียด

 

Source : https://thestandard.co/video/

 

หนึ่งเสียงเล็กๆจากลูกจ้างบริษัทแห่งหนึ่งที่ต้องระหกระเหินกลับบ้านต่างจังหวัด บนความไม่มั่นใจว่าเขาจะเป็นคนที่นำพาเชื้อไปสู่ครอบครัวหรือไม่ แต่ก็ยังต้องนำพาตัวเองขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิต กับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับฝูงชนแน่นขนัดกว่า 80,000 คน ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

เหตุผลง่ายๆ ..คือเธอไม่มีรายได้พอที่จะประทังชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

 

การเข้ามาของไวรัสตัวร้าย COVID-19 และการขอความร่วมมือจากแคมเปญ Social Distancing ที่ต้องรักษาะระยะห่างทางสังคม ซึ่งประกาศให้แหล่งงาน ห้างฯ ร้าน ต้องปิดทำการอย่างฉุกเฉินและขาดมาตรการรองรับในขั้นแรก นอกจากจะทำให้ลูกจ้างบริษัทที่ต้องสูญเสียรายได้และงานที่มีอยู่แล้ว ยังมีลูกจ้างรายวันนอกระบบอีกมาก ที่ต้องเข่าทรุดหมดเรี่ยวแรง เมื่อรู้ว่าที่ทำงานของพวกเขาต้องหยุดชั่วคราว หรือเลวร้ายกว่านั้นคือไม่สามารถไปต่อได้ จนทำให้ Social Distancing กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ระยะห่างทางด้านรายได้และสถานะทางสังคมพวกเขา ถูกกีดกันให้ห่างออกไปด้วย

 

ทำไมคนจนถึงยังคงจน และถูกผลักให้เป็นคนชายขอบของสังคมอยู่เสมอ

เว็บบอร์ดแห่งหนึ่งมีการตั้งกระทู้ว่า ทำไมคนจน ผ่านไป 20 ปีแล้วก็ยังจนอยู่

สำหรับมุมมองของชนชั้นกลางอาจมองว่าการไต่เต้าทางสังคมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และไม่เกินความพยายาม แม้ต้นทุนจะต่ำแต่หากเติมทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงขึ้นในสังคมได้ ..แม้จะไม่ใช่แนวคิดเกินจริง แต่คงไม่ใช่ทุกคนในชนชั้นล่างและกรรมาชีพ ที่จะสามารถพาตัวเองไปถึงจุดในอุดมคติของชนชั้นกลางเหล่านั้นได้

การขาดโอกาสและการเติบโตมาพร้อมต้นทุนติดลบเหล่านี้ ถูกเรียกรวมๆว่า ความยากจน (Poverty) ’ ซึ่งผูกติดและฉุดรั้งคนจนเหล่านั้น ให้ถูกกีดกันจากสังคมหลายมิติ ความยากจน (Urban poverty) เหล่านั้น ได้แก่

  • ความยากจนในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน (Economic poverty) เป็นความยากจนระดับสูงที่สุด จนถึงขั้นขาดแคลนในการเข้าถึง อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย
  • ความยากจนในการเข้าถึงสุขอนามัย (Bodily poverty) คือการไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ร่างกายไม่ได้รับสุขอนามัยที่ดี และไม่สามารถแม้แต่จะเข้าถึงความเป็นอยู่ที่มีสุขอนามัยขั้นพื้นฐานได้
  • ความยากจนทางความคิด (Mental poverty) คือการไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จนขาดระบบความคิด และไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่จะพาตัวเองก้าวไปสู่จุดที่ดีขึ้นได้
  • ความยากจนทางวัฒนธรรม (Cultural poverty) คือการที่ไม่สามารถเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมได้เลย ทำให้สังคมไม่มองว่าพวกเขามีส่วนร่วม หรือมีความคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน
  • ความยากจนด้านความเชื่อและจิตวิญญาณ (Spiritual poverty) คือการที่ขาดแม้กระทั่งความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งและการมีส่วนร่วมทางสังคม
  • ความยากจนด้านความเข้าใจในระบบรัฐ (Political poverty) คือการขาดความรู้ในเรื่องระบบรัฐ ไม่รู้ว่าสิทธิของพลเมืองมีอะไร หรือขาดความเข้าใจว่าระบบของรัฐมีโครงสร้างอย่างไร และทำงานอย่างไร
  • ความยากจนทางการติดต่อทางสังคม (Society poverty) เป็นความยากจนที่เบาบางที่สุดในความยากจนทั้งหมด แม้กระทั่งชนชั้นกลางเองก็ยังคงมีความยากจนนี้ คือการไม่ผูกติดกับสังคมและขาดการมีส่วนร่วมในสังคม

ทฤษฎีความยากจนนี้บ่งบอกให้เห็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่คนจนต้องแบกรับเอาไว้ หากลองเปรียบเทียบกับ ทฤษฎีระดับความต้องการของมนุษย์ (Hierarchy of Needs, Maslow) ที่ประกอบไปด้วย

 

  • ความต้องการพื้นฐาน (Physiological Needs / Safety Needs) ได้แก่ อาหารน้ำ ความอบอุ่น การพักผ่อน ความปลอดภัย
  • ความต้องการเชิงความรู้สึก (Social Belonging / Esteem) ได้แก่ ความสัมพันธ์ มิตรภาพ ครอบครัว ความรัก การได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าจากผู้อื่น
  • ความต้องการขั้นเติมเต็ม (Self-Actualization) หรือ การค้นพบศักยภาพของตัวเอง การได้บรรลุสิ่งที่ตัวเองเป็น  เป็นต้น

จะพบว่าในขณะที่คนชนชั้นกลางขึ้นไป เมื่อเกิดมาก็สามารถไต่เต้าไปขั้นความต้องการเชิงความรู้สึกและความต้องการขั้นเติมเต็มได้ แต่คนชนชั้นล่างนั้น แค่การเข้าถึงความต้องการพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนล่างสุดของพีรามิด ก็อาจจะไม่สามารถทำได้เลยในช่วงชีวิตนี้

 

ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ชนชั้นปรสิต (Parasite) ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ กำกับโดย บอง จุนโฮ ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปีนี้ จะเห็นว่าเหตุการณ์ในคืนฝนตกหนัก ครอบครัวเศรษฐีได้รับผลกระทบเพียงแค่ต้องยกเลิกแผนท่องเที่ยวปิคนิค และกลับมานอนที่บ้านเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันครอบครัวคนยากจน (ที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นปรสิต) กลับต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ด้วยการเดินฝ่าสายฝนกลับบ้านที่กำลังถูกน้ำท่วมเพื่อขนของ  ไม่ต่างอะไรกับแมลงสาบที่หนีน้ำในคืนฝนตก

 

 

เหตุการณ์การอพยพสู่ภูมิลำเนา ที่เป็นผลกระทบจากการขอความร่วมมือด้าน ระยะห่างจากทางสังคม ( Social Distancing ) ที่ยังขาดการเยียวยาในขั้นแรก ไม่ต่างจากการหนีตายของคนจนหรือคนชนชั้นล่าง นอกจากจะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะใช้ชีวิตอย่างไรแล้ว ยังต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในฐานะของผู้ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

น่าตกใจว่าในสถานการณ์ปกติ คนจนเหล่านี้ไม่ถูกมองว่ามีส่วนร่วมในสังคมด้วยซ้ำ พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือ ถูกมองข้าม โดนกีดกันจากระบบข้อมูลพื้นฐาน และขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อต้องเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่ปกติ พวกเขากลับกลายมาเป็นผู้ต้องโทษจากสังคมชนชั้นกลาง เพียงแค่พวกเขาพยายามเอาตัวรอด

นับเป็นความน่าเวทนาที่ ระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing )’ ช่วยทำให้เห็นความชัดเจนของช่องว่างที่ยิ่งใหญ่แ ละความเหลื่อมล้ำที่ใหญ่หลวงในสังคมไทยอย่างชัดเจน

 

 

 

 

อ้างอิง: