ย้อนรอย ไข้หวัดใหญ่ในสยามเมื่อ 101 ปีก่อน
เมื่อกว่า 101 ปีก่อน ประเทศไทย ก็เผชิญกับโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด โดย Facebook ของคุณ Kamnoon Sidhisamarn เปิดเผยข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศสยามในปี 2461 ต่อเนื่องถึงปี 2462 หรือเมื่อ100 ปีที่แล้ว ซึ่งลงตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2461 เล่มที่ 35 หน้า 1855 - 1856 และวันที่ 27 กรกฎาคม 2462 เล่ม 36 หน้า 1193 - 1202 จากการค้นคว้าของท่านอาจารย์กฤษฎา บุณยะสมิต โดยท่านอาจารย์สุดา วิศรุตพิชญ์นำมาบอกกล่าวต่อ
เมื่ออ่านดูรายงาน สรุปในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 กรกฎาคม 2462 เล่ม 36 หน้า 1193 - 1202 โดยเฉพาะในหน้า 1202 จะพบตัวเลขยอดรวมใน 17 มณฑล ไม่รวมกรุงเทพพระมหานคร มีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 2,317,662 คน เท่ากับประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดใน 17 มณฑล ตาย 80,223 คน
โดยรัฐบาลสยามในขณะนั้นได้ดูแลอย่างเต็มที่ ส่งแพทย์ออกไปทั่วทุกมณฑล ดังปรากฎในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2461 เล่ม 35 หน้า 1855 - 1856
"100 ปีผ่านมา วันนี้การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยเจริญขึ้นมาก สามารถรักษาสถานการณ์มาได้เป็นอย่างดี ภายใต้การร่วมแรงร่วมใจกันของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินด้วยมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของรัฐบาล พวกเราคนไทยทั้งมวลจะผ่านสถานการณ์โรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ไปได้อย่างดีที่สุดแน่นอนในไม่ช้า"
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทย เจอกับปัญหาโรคระบาดครั้งใหญ่ที่น่าสนใจหลายครั้ง วันนี้จะขอยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ
ประวัติโรคอุบัติใหม่ : ‘ซาร์ส’ ไข้หวัดอภิมหาภัย
“โรคซาร์ส” ที่ถูกขนานนามว่าเป็นโรคไข้หวัดอภิมหาภัยของโลก ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศจีน จากกวางตุ้ง ถึง จิหลิน เฮอเป่ย ชานสี เทียนจิน และอินเนอร์มองโกเลีย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนให้ทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายจากโรคซาร์ส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2546 ตามมาด้วยประกาศแจ้งเตือนของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ ซึ่งเวลานั้น โรคได้แพร่กระจายไปถึง นครโตรอนโต ออตตาวา ซานฟรานซิสโก อูลัน บาตอ มะนิลา สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮานอย และฮ่องกง
จากข้อมูลในหนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของโรคซาร์ส และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ
“ข่าวการระบาดของ โรคซาร์ส ไม่ได้เริ่มที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศใด หรือองค์การอนามัยโลก แต่เริ่มที่ “แช็ทรูม” คืนหัวค่ำของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2546 แคเธอรีน สตรอมเม็น ครูสอนโรงเรียนประถมศึกษาในเมืองฟรีมอนท์ รัฐแคลิฟอร์เนีย นั่งแช็ทรูมกับ “ทีเชอร์ เน็ท”(Teacher Net) ดังที่เคยปฏิบัติ คุยกันแก้เหงาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับเพื่อนครูด้วยกัน มีชายผู้หนึ่งพลัดเข้ามาจากประเทศจีน ชายผู้นั้นใช้ชื่อว่า “เบ็น”
"เบ็น"เล่าว่าเขาอยู่ที่กวางตุ้ง ไม่ทราบว่ามีโรคประหลาดอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเขา มีผู้คนมากหน้าหลายตาอยู่ดีๆ ก็เป็นคล้ายๆ ไข้หวัด อีกวันสองวันก็หายใจไม่ออกและเสียชีวิต เพื่อนของเบ็นคนหนึ่งทำงานในโรงพยาบาลและมารดาของเพื่อนคนนั้นก็พลอยเสียชีวิตเช่นเดียวกัน ใครเข้าไปในโรงพยาบาลไม่มีวันได้เดินกลับ เสียชีวิตนอนกลับในโลงแคบๆ เหมือนกันทั้งหมด เบ็นพยายามติดต่อถามจากนอกประเทศจีนว่ามีใครรู้เรื่องนี้บ้าง ใครบ้างที่พอจะช่วยเขาได้
หลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานทางอินเทอร์เน็ทของ “โปรเม็ด” ในวันที่ 12 มีนาคม อ้างถึงจดหมายเหตุโรคระบาดประจำสัปดาห์ขององค์การอนามัยโลก (WHO Weekly Epidemiological Record) ว่ามีการระบาดของโรคปอดบวมดังกล่าวจากกวางตุ้ง ความว่าตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นต้นมา มีโรคปอดบวมนอกรูปแบบ (Atypical pneumonia) เกิดขึ้นปุบปับที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 มีผู้ป่วยรวม 305 ราย ตาย 5 ราย จากการตรวจศพพบสาเหตุว่าบางราย (2 ราย) เกิดจากเชื้อจุลชีพก่อโรคชนิดหนึ่งคือ คลามีเดีย นิวโมนิเอ (Chlamydia pneumoniae) แต่ทางการจีนยังคงสงบนิ่ง ไม่รายงานให้ผู้ใดทราบ จนกระทั่งโรคมันฟ้องเองมีคนเอาข่าวออกไปปูดโดยมิได้ตั้งใจปล่อย โรคจึงถูกเปิดเผยออกมากลายเป็นเรื่องใหญ่
ผู้ป่วยรายแรกเกิดขึ้นที่เมือง ชุนเด โฟชาน มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ผู้ป่วยรายแรกนี้เป็นชาวนา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล First People’s Hospital of Foshan ผู้ป่วยเสียชีวิตไม่นานหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการตายที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่ทางการของจีนนอกจากจะไม่ได้แจ้งข่าวนี้ให้แก่ผู้ใด ยังพยายามปิดข่าว จำกัดมิให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข่าว ข่าวการปรากฏของโรคอุบัติใหม่นี้กว่าจะได้รับการเปิดเผยก็ล่วงเข้าเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา ความล่าช้าครั้งนี้ทำให้ทางการของจีนได้รับคำตำหนิอย่างกว้างขวางจากประชาคมโลก จีนได้ออกมาขออภัยในความล่าช้านี้ในภายหลัง
"โรคไข้หวัดอภิมหาภัยนี้แพร่จากจีนไปยังฮ่องกง โดยน่าจะมาจาก ศ.นพ.หลิว เจียนหลุน แพทย์โรคไตจากมหาวิทยาลัยซงซาน ซึ่งเดินทางมาที่ฮ่องกง เข้าพักที่โรงแรม เมโทรโปล ย่านม่งก๊ก ฝั่งเกาลูน กระทั่งเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ที่ฮ่องกง แขกของโรงแรมที่พักชั้นเดียวกัน ติดโรคไป 16 คน และยังสามารถแพร่ต่อไปได้ร่วมพันคน"
คำว่า โรคซาร์ส หรือในภาษาอังกฤษว่า SARS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Severe Acute Respiratory Syndrome หรือภาษาไทยถ้าจะแปลกันตรงตัวก็น่าจะแปลว่า “กลุ่มอาการโรคระบบหายใจเฉียบพลันอย่างรุนแรง” เป็นคำที่เพิ่งมีการบัญญัติขึ้นมาใหม่ คำนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากการที่มี
รายงานผู้ป่วยรายแรกที่ป่วยด้วยโรคนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2546 เป็นรายแรกจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เป็นนักธุรกิจชายชื่อ นายจอห์นนี เฉิน ซึ่งเดินทางมาจากสหรัฐฯ มาทำธุรกิจที่กวางตุ้ง และเดินทางต่อไปฮานอยโดยผ่านฮ่องกง แวะพักที่โรงแรมเมโทรโปล แล้วจึงเดินทางไปดำเนินธุรกิจที่เวียดนามต่อไป จอห์นนีเริ่มมีอาการป่วยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เมื่อไปถึงฮานอยจึงไปขอรับการรักษาที่โรงพยาบาลฮานอยเฟร็นช์ ฮอสปิตอล ในกรุงฮานอยที่ชาวตะวันตกไว้ใจนิยมไปขอรับการรักษา ชั่วเวลาข้ามวันอาการของจอห์นนีทรุดหนักลง หายใจติดขัด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สุดท้ายได้รับการส่งตัวไปรักษาที่ฮ่องกงและจบชีวิตที่นั่น ชื่อโรคกำเนิดที่จุดนี้เอง ก่อนไปสิ้นชีวิตที่ฮ่องกง
"จอห์นนี" ได้แจกจ่ายเชื้อโรคซาร์สไว้ที่โรงพยาบาลฮานอย เฟร็นช์ ฮอสปิตอล จำนวนหนึ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่นั่นเสียชีวิตด้วยโรคซาร์ส 22 คนเป็นอย่างน้อย ก่อนที่ทั้ง 22 รายจะสิ้นใจ ก็แพร่โรคไปในชุมชนฮานอยอีกอย่างกว้างขวาง
เชื้อจุลชีพก่อโรคที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมรณะคือ เชื้อ Corona virus สามารถแยกเชื้อจากเนื้อเยื่อของผู้ป่วยหลายคน และยังสามารถเพาะเชื้อได้จากจมูกและคอ และเมื่อทดสอบระบบภูมิคุ้มกันก็พบหลักฐานยืนยันว่าการตรวจทางอณูชีววิทยาก็พบว่ามีลักษณะเหมือน Corona virus สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่อีกต่างหาก จึงเรียกว่า SARS Coronavirus หรือ Scorona virus
โรคซาร์ส มีระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการของโรคโดยประมาณใช้เวลา 2-7 วัน แต่มีบางรายงานพบว่าอาจจะใช้เวลา 10 วัน สำหรับประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขให้ระยะเวลา 14 วัน ในการสังเกตอาการว่าจะเป็นโรคหรือไม่ มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10-20 ที่อาการเป็นมากจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีอัตราการตายร้อยละ 6-15 และมักลงเอยด้วยปอดบวมแล้วเสียชีวิต อาจจะมีอาการน้อยเมื่อเริ่มเป็นโรคแต่จะเห็นได้ว่าอาการที่ปรากฏไม่แตกต่างจากไข้หวัด
สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดมรณะ จากข้อมูลล่าสุดในการรักษาไข้หวัดมรณะยังไม่มีแผนการรักษาที่ได้ผลดี การรักษาส่วนใหญ่รักษาแบบปอดบวมที่ไม่ทราบชนิดของเชื้อ ประกอบด้วยการรักษาแบบประคับประคอง บางคนให้ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส เช่น oseltamivir หรือ ribavirin บางคนก็ให้ steroids แต่ผลของการรักษายังกำกวม
บทเรียนคุมไข้หวัดใหญ่ 2009 ในประเทศไทย
อีกกรณีหนึ่งคือ ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ในเดือนมีนาคม ปี 2552 ประเทศเม็กซิโก พบการเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่กลับเข้าใจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จนมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากปวดบวมที่ไม่ทราบเชื้อขึ้น กระทั่งเดือนเมษายน ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ประกาศพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากผู้ป่วยในรัฐคาลิฟอร์เนีย โดยเป็นเชื้อชนิด A ที่ไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยวิธีมาตรฐานแบบเดิม
ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีรายงานพบผู้ป่วยคนไทย 2 รายแรกที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเม็กซิโก และหลังจากนั้นก็มีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศตามมา โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009แพร่กระจายเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในโรงเรียน ในเดือนกันยายนสถานการณ์แพร่ระบาดลดความรุนแรงลง สิ้นเดือนกันยายนมีรายงานการเสียชีวิตสะสมรวม 165 ราย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวมา ประเทศไทยก็ได้บทเรียนจากการควบคุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วยเช่นกัน
หากย้อนกลับไปดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ที่แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2 เดือน สำหรับประเทศไทยการระบาดภายในประเทศอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยพบว่าตัวขับเคลื่อนการระบาดที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มเด็กนักเรียนประถมและมัธยม มีการระบาดในโรงเรียนต่างๆ เริ่มจากกรุงเทพฯและปริมณฑล และแพร่ขยายไปทั่วทุกจังหวัด ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มเด็กนักเรียนได้ส่งผ่านการระบาดไปยังครอบครัวของตนเอง ผู้ปกครองที่ป่วยก็นำเอาเชื้อไปแพร่สู่ที่ทำงานของตนและชุมชน ยังผลให้มีการติดเชื้อประมาณ 10 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2552
แม้ในภาพรวมประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ โดยสามารถลดการตายได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 500 ราย และชะลอการแพร่ระบาดเป็นหลายระลอกด้วยยุทธศาสตร์การลดการป่วยและลดการตาย ได้แก่ การหยุดเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้าน, การหยุดกิจกรรมในสถานที่ซึ่งมีการทำกิจกรรมร่วมกัน รณรงค์การล้างมือ ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ สวมหน้ากากอนามัย และการคัดกรองผู้ป่วยไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่หรือชุมชน การวินิจฉัยให้รวดเร็วและรีบรักษาด้วยยาต้านไวรัส การให้วัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ซึ่งการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้ สร้างบทเรียนด้านการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินและวิกฤตที่สำคัญ ที่ประเทศไทยจะต้องนำมาพัฒนา โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด ทั้งปัญหาการสื่อสารไปยังผู้ปฏิบัติในระดับจังหวัดอำเภอ ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึง
ขณะเดียวกันปัญหาในการสื่อสารกับสังคมในภาวะวิกฤต สร้างความสับสนไม่มั่นใจเกิดขึ้นในสังคม แต่หลังจากการเปลี่ยนการแถลงข่าวรายวันเป็นรายสัปดาห์ มีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเข้าร่วมในการแถลง ก็สามารถลดความตื่นตระหนกของประชาชนไปได้มาก
และที่สำคัญการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้นำไปสู่โอกาสการพัฒนาด้านการสาธารณสุขในหลายด้าน เช่น ระบบการเฝ้าระวังโรค กล่าวคือ ในอดีตการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่มีเพียงรายงานการป่วยและการตาย การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาและเสริมสร้างระบบการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ การเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ การเฝ้าระวังอัตราการตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ในจุดเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ การเฝ้าระวังข่าวการระบาด การเฝ้าระวังการป่วยและการตาย ตลอดจนการเฝ้าระวังอาการภายหลังการฉีดวัคซีน
การพัฒนาด้านห้องปฏิบัติการ จากการระบาดในครั้งนี้ทำให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยต่างๆเพิ่มขีดความสามารถให้ทำการตรวจด้วยวิธี PCR ได้ เช่น การขยายการตรวจไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง สถาบันบำราศนราดูร คณะแพทย์ศาสตร์ต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนและห้องปฏิบัติการเอกชนบางแห่ง
การพัฒนาด้านวัคซีน โดยองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมของประเทศไทยพัฒนาโรงงานต้นแบบที่ไดมาตรฐาน และทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Pandemic live attenuated influenza vaccine) รวมถึงสร้างโรงงานระดับอุตสาหกรรมในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายขึ้น สามารถผลิตจำหน่ายภายในประเทศ ทำให้มีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ
รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายด้านระบาดวิทยาสำหรับการเฝ้าระวังสอบสวนโรค เครือข่ายทางห้องปฏิบัติการสำหรับการวินิจฉัย และเครือข่ายด้านการรักษา รวมไปถึงมีเครือข่ายด้านการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
"จะเห็นว่าโรคระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 100 ปีก่อน มาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้สร้างแนวทางการพัฒนาทางการแพทย์ในทิศทางที่ดี เพื่อควบคุม แก้ไขปัญหา พร้อมดูแลประชาชหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับไวรัส โควิด 19 เชื่อว่าความร่วมมือในการดูแลป้องกัน หากเกิดได้จากทุกภาคส่วนร่วมมือ ประชาชนดูแลความสะอาด พร้อมทำตามข้อกำหนดที่รัฐบาลออกมาบังคับใช้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็จะสามารถลดจำนวนคนติดเชื้อไปได้มาก"
“โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ หากลดการติดต่อ”
อ้างอิง :
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552
บทเรียนการควบคุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศไทย โดย นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
แหล่งที่มา : นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (บรรณาธิการ), การสาธารณสุขไทย ๒๕๕๑-๒๕๕๓, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, 2554