ปี 63 ฝ่าวิกฤต COVID-19 คาดส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไทยไปจีนโตได้ไม่ต่ำกว่า 20%
ปัจจุบันจีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปตลาดโลก (เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น) ภายหลังจากที่จีนเปิดตลาดนำเข้าให้กับไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2561 หลังถูกระงับการส่งออกตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดนกในไทย ปัจจุบันสถานะของไทยในตลาดจีนคือผู้ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งอันดับ 4 ของจีน และมียอดส่งออกที่เติบโตกว่าร้อยละ 252.0 (YoY) ในปี 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้น จีนจึงเป็นตลาดส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งที่มีความสำคัญกับไทย และแม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 แต่จีนก็ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อทิศทางการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปจีน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนน่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกไทยไปจีนปี 2563: ปัจจุบันจีนได้ประกาศว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีนได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งสัญญาณบวกต่อการควบคุมโรคระบาดในจีน หลังจากที่จีนมีมาตรการป้องกันโรคระบาดที่เข้มข้นตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมถึงการปิดด่านขนส่งสินค้าสำคัญเพื่อควบคุมการระบาดของโรค (ระหว่างวันที่ 24 ม.ค. -13 ก.พ. ที่ผ่านมา) จนกระทบต่อการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศของจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารอย่างไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ทำให้การขนส่งชะงักงันและเกิดความล่าช้า อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่คลี่คลายส่งผลให้จีนเริ่มกลับมาเปิดระบบการขนส่งตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ถูกลำเลียงไปป้อนตลาดจีนได้เป็นปกติอีกครั้ง ทั้งนี้ เส้นทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนหลังจากจีนเปิดตลาดให้กับไทยอีกครั้ง จะเป็นการขนส่งทางเรือผ่านด่านท่าเรือเชียงแสนของไทย ไปยังท่าเรือกวนเหล่ยมณฑลยูนนานแห่งเดียวเท่านั้น จากนั้นจะถูกกระจายต่อไปยังมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศโดยการขนส่งทางบก
- การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไทยไปจีนช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงหนุนต่อ จากโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ที่รอการประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเพื่อส่งออกไปจีน 12 แห่ง โดยคาดว่าหาก COVID-19 ในจีนไม่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง อย่างช้าที่สุดไม่เกินไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จีนน่าจะประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้กับโรงงานผลิตและแปรรูปไก่ของไทยอีก 12 โรงงาน ให้สามารถส่งออกไปจีนได้ หลังจากเข้ามาตรวจสอบโรงงานในไทยไปแล้วเมื่อปี 2562 สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดว่าจีนจะเร่งอนุมัติขึ้นทะเบียนให้กับโรงงานของไทยก็คือ ความกังวลของผู้บริโภคที่มีผลิตภัณฑ์อาหารภายในประเทศในช่วงที่มีการระบาดของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น COVID-19, H5N1 ที่ทำให้ทางการจีนต้องสั่งฆ่าไก่ไปกว่า 18,000 ตัว รวมถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือ ASF ที่ยังไม่ฟื้นตัวในจีน ทำให้จีนไม่เพียงจะต้องขยายการผลิตแต่จำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งนำเข้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คาดว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับที่ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว สะท้อนจากตัวเลขแนวโน้มการนำเข้าไก่ของจีนที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาหรือ USDA ประเมินไว้ว่า ในปี 2563 จะยังพุ่งสูงถึง 7.5 แสนตัน หรือขยายตัวร้อยละ 20.0 (YoY)
- การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไทยไปจีนช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยังมีแนวโน้มเติบโตแต่อาจชะลอลงจากช่วง 2 เดือนแรก ที่เติบโตถึงร้อยละ 31.4 (YoY) หรือมีมูลค่าส่งออกราว 41.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ แรงหนุนการเติบโตส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำเข้าในจีนได้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าในไตรมาส 1/2563 ไปแล้วก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและปิดประเทศ ในขณะที่คำสั่งซื้อไตรมาส 2/2563 หลังจากการเปิดด่านขนส่ง ก็ทยอยเข้ามาต่อเนื่อง จนเต็มกำลังการผลิตของไทย จากจำนวนโรงงานที่ผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพื่อส่งออกจำนวน 16 แห่ง เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังของจีนที่ลดลง โดยปัจจุบันศุลกากรจีนได้ออกมาตรการใหม่ทางด้านการค้า เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศให้สามารถเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น[1] ซึ่งผลิตภัณฑ์ไก่ ก็จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์นี้ด้วย เนื่องจากเป็นสินค้ากลุ่มอาหารที่มีความจำเป็นต่อการบริโภคในจีน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ COVID-19 ในไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และมีการ Lockdown ในหลายจังหวัด การปิดด่านชายแดน รวมถึงการดูแลการเดินทางข้ามจังหวัดและข้ามแดน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้าเพื่อป้อนตลาดจีนอยู่บ้างจากกระบวนการตรวจสอบและขั้นตอนที่อาจเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการอนุญาตการขนถ่ายสินค้าที่จำกัดเวลาลงจากภาวะปกติ เป็นต้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 และทำให้คาดว่าอัตราการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกอาจขยายตัวราวร้อยละ 20-25 (YoY)
ดังนั้น ด้วยกำลังการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 12 โรงงาน บวกกับฤดูกาลส่งมอบสินค้าปลายปี ที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นกว่าช่วงปกติ ดังนั้น จึงคาดว่าภาพรวมการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 20-25 (YoY) ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าทิศทางการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในปีนี้ยังให้ภาพเชิงบวก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สิ่งที่แตกต่างและเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปจีนในปีนี้คือ
1) การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นในตลาดจีน จากการเปิดตลาดให้กับคู่แข่งใหม่ๆ ให้สามารถเข้ามาทำตลาดไก่ในจีนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกชิงส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพะการแข่งขันกับคู่แข่งเจ้าเดิมที่กลับเข้ามาทำตลาดใหม่ในจีนปีนี้อย่างเต็มตัวอย่าง สหรัฐฯ หลังจีนเปิดตลาดให้นำเข้าอีกครั้งตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 ด้วยโรงงานที่ผ่านการรับรองเป็นจำนวนถึง 172 แห่ง ให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่ไปทำตลาดในจีนได้[1] เช่นเดียวกับรัสเซียที่เป็นคู่แข่งใหม่ที่น่าจับตา เพราะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หลังจากทางการจีนอนุญาตให้ส่งผลิตภัณฑ์ไก่จากรัสเซียไปทำตลาดในจีนได้ตั้งแต่ เม.ย. 2562 จากโรงงานที่ผ่านการรับรองไม่ต่ำกว่า 23 แห่ง ตอกย้ำถึงแรงกดดันด้านการแข่งขันในตลาดจีนเพิ่มอีกระดับ จากเดิมที่ไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งสำคัญในตลาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี ซึ่งแม้ในปีนี้อาจจะไม่ถูกกระทบมาก เพราะคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือรัสเซีย ก็ต่างเผชิญกับ COVID-19 เช่นเดียวกัน แต่อาจจะเป็นความท้าทายมากขึ้นในช่วงถัดไปเมื่อ COVID-19 คลี่คลาย
2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค: จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อชีวิตผู้คน สังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะชะงักงันครั้งใหญ่ จนกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปี 2563 อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 1-3 จากปี 2562 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 6.1 อย่างไรก็ดี ด้วยตัวสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเป็นสินค้าบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ยาก ดังนั้น คาดว่าความต้องการยังคงมีอยู่ แต่อาจจะปรับลดลงในช่วงที่จีนควบคุมการระบาดของโรค ทำให้กลุ่มลูกค้าสำคัญอย่างร้านอาหาร ไม่สามารถเปิดทำการในรูปแบบปกติได้ ทำให้ความต้องการสินค้าในช่วงนั้นลดลง บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้ที่ยังอยู่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ต้องระมัดระวังด้านการใช้จ่ายมากขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า แม้ความต้องการไก่เพื่อการบริโภคในตลาดจีนยังอยู่ในระดับสูง แต่โอกาสของไทยในการเจาะตลาดจีนในปีนี้ก็มีความท้าทายเช่นกัน ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานเส้นทางการขนส่งสินค้าเปิดให้บริการปกติ และทางการจีนสามารถป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นตามลำดับ ตลอดจนการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าจากไทยไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมาตรการของภาครัฐที่อาจเพิ่มความเข้มงวดขึ้น เบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2563 ไทยน่าจะมีโอกาสส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปจีนเป็นมูลค่า 266-277 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 20-25 (YoY) แม้จะเติบโตในทิศทางที่ชะลอตัวจากปีก่อน ส่วนหนึ่งจากผลของฐานปีก่อนที่สูงมาก แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ดี และถือเป็นสินค้าส่งออกตัวหนึ่งที่ยังไปต่อได้ในตลาดจีนปีนี้