นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบให้ กระทรวงการคลังออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดย 6 แสนล้านบาท ใช้เพื่อการสาธารณสุข และอีก 4 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจและสังคม โดย พ.ร.ก. จะมีผลบังคับใช้เดือน เม.ย. นี้ และเดือน พ.ค. เริ่มกู้เงินได้

ทั้งนี้ เงินกู้ส่วนหนึ่งจะมาใช้ในโครงการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท จากเดิม 3 เดือน (เม.ย.-พ.ค.) หรือ คนละ 1.5 หมื่นบาท เป็น 6 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) หรือ เป็นคนละ 3 หมื่นบาท เพื่อดูแลกลุ่มอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์รับเงิน 5,000 บาท ครม. ได้สั่งให้ทุกกะทรวง ให้เร่งพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือให้มากที่สุด

"การแจกเงิน 5 พันบาท เพิ่มเป็น 6 เดือน เพราะเห็นว่าโควิดกระทบประชาชนและผู้ประกอบการอาชีพอิสระมากขึ้น และไม่รู้ว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไร จึงต้องช่วยคนกลุ่มนี้ที่มีมาลงทะเบียน 24 ล้านคนเพิ่ม ซึ่งจะใช้เงินกู้ 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการนี้ ไม่รวมกับงบประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ที่กันไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะมีผู้ผ่านคุณสมบัติได้รับเงินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกลุ่มแรก1.6 ล้านคน ที่ผ่านเงื่อนไขและจะได้รับเงินพรุุ่งนี้เป็นต้นไป โดยจะได้รับเพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือนทั้งหมด"

นอกจากนี้ ครม. ยังให้คลังออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท โดยจะเสนอเสนอให้ ครม. เห็นชอบ และเสนอสภาต่อไป เพื่อให้ได้ในเดือน มิ.ย. 2563 พร้อม ครม. ยังเห็นชอบให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก พ.ร.ก. ออกเงินกู้ซอฟท์โลน ให้ผู้ประกอบการ 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูเสถียรภาพการเงินตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้เอกชน 4 แสนล้านบาท

สำหรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนเม.ย. นี้ และในเดือนพ.ค. จะสามารถดำเนินการจัดหาเงินกู้ได้ โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้กู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จากแหล่งที่มาของเงินสกุลบาทเป็นหลัก โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 ก.ย.64 หรือระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ซึ่งรูปแบบการกู้จะเป็นการทยอยกู้เงินให้สอดคล้องกับการใช้งบประมาณ ไม่ได้กู้ทีเดียวจบ ซึ่งจากการประเมินจะส่งผลให้ปี 2564 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี โดยเป็นการคาดการณ์จากการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 63 จะหดตัว 5.3% และในปี 64 จะขยายตัว 3%

        ส่วนที่สำนักงบประมาณได้เสนอออกพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ครม.ก็ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยขณะนี้ได้ขอให้หน่วยงานแต่ละกระทรวงพิจารณาโอนงบประมาณ เพื่อนำมาเป็นส่วนแบ่งต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 โดยงบที่จะขอนำมาใช้นั้นเป็นงบที่ไม่ผูกพัน งบจากการอบรม สัมมนา เป็นต้น โดยในระยะต่อไปสำนักงบประมาณจะนำร่างพ.ร.บ.เสนอเข้าสู่ครม. ต่อไป ซึ่งจากการพิจารณาตัวเลขแล้ว คาดว่าจะได้วงเงินประมาณ 8 หมื่น-1 แสนล้านบาท

        ส่วนที่ ธปท.ได้ออกพ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน โดยตั้งกองทุน Corporate Bond Liquidity Stabilization หรือ BSF นั้น กลไกของกองทุนเหมือนกับกองทุนรวม แต่จะมีคณะกรรมการนโยบายกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยมีธปท. และสบน.เป็นหน่วยงานร่วมกันดูแล นอกจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการการลงทุน เพื่อจะพิจารณาความเหมาะสมของการซื้อขายด้วย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เครื่องมือที่ใช้ในการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะพิจารณาประกอบกับกลไกของตลาด อาทิ การออกพันธบัตรออมทรัพย์ โดยแหล่งที่มาของเงินพ.ร.ก. เปิดให้สามารถกู้ได้ทั้งสกุลเงินบาท และสกุลเงินต่างประเทศ และขณะนี้ในต่างประเทศมีองค์การต่างๆ ที่เปิดแพ็คเกจโควิด-19 ที่น่าสนใจ เช่น ธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB) เป็นต้น โดยสบน.อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ดี จะเน้นกู้เงินในต่างประเทศเป็นหลัก

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในสัดส่วน 21.2% ยังไม่เต็มเพดานที่กำหนดไว้ 35% ส่วนภาระชำระดอกเบี้ยต่องบประมาณรายได้ หากกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้รัฐมีภาระหนี้อยู่ที่ 7.4% จากเพดาน 10%