เมื่อ “Covid-19” พ่นพิษ ทำคนจีน “เบี้ยวหนี้”
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะ “ธุรกิจขนาดเล็ก” ที่สายป่านสั้นก็จะเผชิญความยากลำบากมาก และมาตรการล็อกดาวน์ยังทำให้เกิดการปลดพนักงานจำนวนมาก เช่น ประเทศจีน เมื่อเดือน ก.พ. 2020 ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนต้องสูญเสียงานราว 8 ล้านคน ซึ่งการเสียรายได้ของรายย่อยเหล่านี้ ย่อมกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ และแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาลได้
“จีน” นับเป็นประเทศแรกที่เริ่มส่งสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ของรายย่อยแล้ว โดย บลูมเบิร์ก รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของจีน 2 แห่ง ระบุว่า จำนวนหนี้บัตรเครดิตที่เกินกำหนดเวลาชำระหนี้ ประจำเดือน ก.พ. 2020 เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ “ชูเตี้ยน” ผู้ให้บริการปล่อยสินเชื่อผู้บริโภครายย่อยแบบออนไลน์ เปิดเผยว่า เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อัตราการชำระหนี้ล่าช้าของลูกหนี้รายย่อยเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากเมื่อ ธ.ค. 2019 อยู่ที่ 13% เท่านั้น
ส่วน “จ้าว เจี้ยน” หัวหน้าทีมวิจัยวิชาการเงิน จากสถาบันแอตแลนติส ในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ (default rate) ของลูกหนี้รายย่อยของธนาคารจีน เพิ่มขึ้นเป็น 4% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ระดับ 1% เท่านั้น
ปัญหาหนี้สินของจีน โดยเฉพาะ “หนี้ภาคครัวเรือน” ได้สั่งสมมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปี 2562 ที่ผ่านมา หนี้ภาคครัวเรือนของจีนสูงถึงราว 7.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรายงานระบุว่า การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของบริษัทปล่อยสินเชื่อออนไลน์ เช่น แอนต์ ไฟแนนเชียลของอาลีบาบา เป็นเชื้อเพลิงของการก่อหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาล
นักวิเคราะห์จาก ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป บริษัทวาณิชธนกิจจีน บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา บริษัทการเงินเร่งผ่อนเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างมากหากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการว่างงานจำนวนมาก
ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อาจต้องเจอกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของรายย่อยเช่นกัน โดยบทวิเคราะห์จาก สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ชี้ว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนทั่วโลก มีการสั่งสมเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 ถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สัดส่วน “หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี” ในหลายประเทศ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, นิวซีแลนด์ และไนจีเรีย เป็นต้น
จากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายหนี้ของรายย่อยเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ในปีที่ผ่านมา หนี้บัตรเครดิตพุ่งขึ้นเตะระดับสูงสุดที่ 930,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ในหลายรัฐ ส่งผลให้เกิดการปลดพนักงานถึง 3.28 ล้านตำแหน่งภายในสัปดาห์เดียว ซึ่งสร้างความเสี่ยงอย่างมากว่าประชาชนเหล่านี้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้
ดังนั้นมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด และคุณภาพของมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดสหรัฐได้ออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยการแจกเงินสดโดยตรงให้กับชาวอเมริกัน รวมถึงโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี
ขณะที่จีนก็อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบ พร้อมเร่งให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีอัตราการจ้างงานถึง 80% ของแรงงานทั้งประเทศ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ ซึ่งนำมาใช้ที่เมืองอู่ฮั่น โดยนักวิเคราะห์คาดว่าอาจถูกขยายขอบเขตครอบคลุมทั่วประเทศจีน
แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยบรรเทาปัญหาและเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าของรายย่อยได้ส่วนหนึ่ง แต่จากรายงานจาก สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (ไอไอเอฟ) ที่ระบุว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สั่งสมมานาน ทำให้มาตรการช่วยเหลือไม่สามารถครอบคลุมถึงผู้ที่ประสบปัญหาได้อย่างทั่วถึง และบรรเทาปัญหาเพียงระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ซึ่งระดับหนี้ของรายย่อยต่อรายได้เมื่อปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 92% จากเมื่อ 10 ปีก่อนอยู่ที่ระดับ 30% เท่านั้น
ดังนั้นมาตรการของภาครัฐจึงอาจไม่สามารถแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ได้ และไม่อาจครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ทั้งหมด ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ภายใต้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สะสมมายาวนาน และกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่จากสถานการณ์โควิด-19
มาตรการความช่วยเหลือก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยก็กำลังเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยบรรเทา เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถมีเงินหมุนเวียนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติโควิด 19 นี้ไปให้ได้