ข่าวดี! เอเชียจะเป็นกลุ่มแรกที่ เศรษฐกิจ ฟื้นตัวจากโควิด 19
ช่วงนี้คำที่หลายคนกล่าวถึงคงหนีไม่พ้นคำว่า New normal ซึ่งแปลตรงตัวว่า ความปกติใหม่ อันเป็นการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ถึงสถานการณ์ในอนาคตซึ่งถูกวิกฤตไวรัสโรคระบาด โควิด19 บีบบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง บทความเรื่อง Could the next normal emerge from Asia? จาก McKinsey ได้คาดการณ์สถานการณ์และความปกติใหม่ของเอเชียไว้อย่างสนใจ โดย TerraBKK ขอนำมาเรียบเรียงดังนี้
เอเชีย ดินแดนแห่งการกำเนิด Next normal
McKinsey ได้มีการจำลองและประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของโลกที่ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากโควิด19 อาจทำให้ GDP โลกลดลงถึงประมาณ 4.9 – 6.2% ตั้งแต่ช่วง Q4/2019 ถึง Q2/2020 สำหรับทวีปเอเชีย มีประชากรถึง 60% ของประชากรโลก รวมไปถึงมีสัดส่วนประชากรที่มีความยากจนถึง 35% แต่รายงานที่น่ากังวลจาก World Bank ระบุว่าเศรษฐกิจในเอเชียจะหดตัว 0.5% ทำให้คนถึง 11 ล้านคนทั่วทวีปจะถูกบีบบังคับให้ยากจนมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด
แต่อย่างไรก็ตาม การได้เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด และสามารถรับมือ ควบคุม และจำกัดการแพร่ระบายได้อย่างดี ทำให้เอเชียถูกมองว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และกลายเป็นความหวังของ New normal ในเศรษฐกิจโลก
ความคาดหวังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลมๆ แล้งๆ โดยในปี 2018 มีงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจาก McKinsey ซึ่งพบว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเอเชียนั้นเติบโตดีในระดับต้นๆ ของโลก โดยมีอุตสาหกรรมที่โตเกิน 3.5% ถึง 7 อุตสาหกรรม อีกทั้งตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของ GDP ต่อประชากรในเอเชียนั้นก็ยังเติบโตอย่างโดเด่น โดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และประเทศไทย เห็นได้จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตการเงินโลกในปี 1997 และ 2008 ซึ่งกลุ่มประเทศในเอเชียสามารถฟื้นตัวและมี GDP เติบโตกลับมาสู่ระดับปกติในเวลาเพียง 1-2 ปี
และถึงแม้การระบาดของโควิด 19 จะเริ่มต้นขึ้นจากจีน แต่ในวันนี้จีนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและรับมือกับโรคระบาดได้ดี โดยจีนสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ที่ดูว่าใกล้จะดำเนินรอยตามจีนได้สำเร็จ จากกราฟผู้ป่วยสะสมที่ค่อยๆ เติบโตแบบคงที่
สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่ง McKinsey มองว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลก และยังเป็นกลุ่มประเทศที่สร้าง New normal หรือ Next normal ระดับโลก ด้วยปัจจัยดังนี้
การบริหารและการจัดการด้านสังคม
ในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ทำให้หลายข้อกำหนดหรือสิทธิต่างๆ ได้ถูกนำมาปรับใช้ใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการติดตามตัวบุคคลด้วยแอพพลิเคชั่น ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นที่ต่อต้านในสังคม แต่สำหรับในวิกฤตโรคระบาด มาตรการนี้กลับได้รับยอมการยอมรับมากขึ้น ไม่เพียงแต่การติดตามจากทางภาครัฐเท่านั้น แต่สำหรับภาคเอกชนที่อนุญาตให้พนักงานได้ทำงานแบบ remote ก็เป็นส่วนช่วยให้เกิดการติดตามตัวบุคคล ซึ่งทำให้สามารถจำกัดและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล ซึ่งบรรทัดฐานของความเป็นส่วนตัวในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ อาจเป็นบรรทัดฐานใหม่หรือ New normal ของการติดตามตัวในโลกหลังโควิด 19
นอกจากนั้น ยังมีการจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะปัญหาด้านอาชีพและการงาน ซึ่งวิกฤตโรคระบาดนี้ทำให้ประชากรจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน ในออสเตรเลียได้มีการจัดการเรื่องนี้ โดยให้พนักงานสายการบินที่ถูกปลด พนักงานในร้านสะดวกซื้อและงานบริการอื่นๆ จำนวนกว่า 20,000 คน ได้ไปทำงานร่วมกับ Woolworths ธุรกิจค้าปลีกของออสเตรเลีย เพื่อทำงานบริการแจกจ่ายอาหารและของใช้ที่จำเป็น ให้แก่ประชากรคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการว่างงานและสวัสดิการไปพร้อมๆกัน
วิถีการทำงานและการบริโภคใหม่ๆ
ในช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่มาแรงและเติบโตสวนกระแสวิกฤตโควิด อีกทั้งการ work from home หรือ Social distancing ทำให้ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันนั้นต้องคลุกคลีไปกับระบบออนไลน์ ตั้งแต่ กิจวัตรประจำวัน การทำงานและการเรียน การบริโภค และอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นหนึ่งใน New normal ที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลานี้
ยกตัวอย่างเช่น จีนได้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ ที่สามารถรองรับนักเรียนได้ถึง 50 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน ในด้านการบริโภค พบว่ายอดขายธุรกิจจัดส่งพัสดุของจีน เพิ่มสูงขึ้น 400% ในช่วงวิกฤตโรคระบาด เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ซึ่งมีสถิติการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ถึง 3.3 ล้านรายการภายในวันเดียว
กิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่เริ่มผูกตัวกับชีวิตประจำวันของผู้คน แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดด้านการเชื่อมต่อที่ถูกขยายให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นคำถามต่อไปถึงบริษัทและอุตสาหกรรมอื่นๆ ว่าจะสามารถขยายขีดความสามารถของตัวเอง ได้เท่าทันกับขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคตอนนี้แล้วหรือยัง
การแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและครอบคลุม แบบ Top down และ Bottom up
นับเป็นการแก้ปัญหาที่ขอการมีส่วนร่วมจากภาคประชากรและภาคส่วนอื่นๆ อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่จีนสามารถใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในการระดมแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่นๆจำนวนหลายหมื่นคน รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลายหมื่นแห่ง และการอัดฉีดเงินจำนวน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการแก้ไขวิกฤตโรคระบาดอย่างฉับพลัน
สำหรับนโยบายด้านการเงิน ก็ถูกนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นตั้งแต่ระดับล่าง อาทิ ออสเตรเลียได้ให้เงินอุดหนุนค่าจ้าง 130,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินอัดฉีดถึง 38,000 ล้านดอลลาร์
นโยบายทางการเงินลักษณะนี้ McKinsey มองว่าทำให้เอเชียกลายเป็นกลุ่มประเทศที่สามารถดึงดูดและบริหารทรัพยาการในระดับ Top down และ Bottom up หรือจากบนลงล่างและล่างขึ้นบนได้ในระดับดีเยี่ยม