มีลุ้นปลายปีนี้ จุดประกายระดมทุน พัฒนาเมือง สกสว. ผนึกพันธมิตรส่งเสริมการระดมทุน แผนการพัฒนาเมือง ผ่าน ระบบคราวน์ฟันดิ้ง (Crowdfunding)
สกสว. ผนึกพันธมิตรทางการเงินเร่งส่งเสริมการระดมทุนสนับสนุน แผนการพัฒนาเมือง เสนอ 4 ทางเลือกผ่าน ระบบคราวน์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) จับตาจังหวัดไหนจะจุดประกายเปิดระดมทุนนำร่องได้ช่วงปลายปีนี้
น.ส.อรัญญา นาคหล่อ อาจารย์ประจำหลักสูตรการบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าโครงการนี้ได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมจากโครงการ “การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” ภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) โดยคัดเลือกมาจำนวน 5 เมือง ประกอบไปด้วยขอนแก่น สระบุรี สงขลา(หาดใหญ่) ระยอง และเชียงใหม่ จากทั้งหมด 15 บริษัทพัฒนาเมืองเพื่อให้มีการระดมทุนมวลชนผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Funding Portal ของระบบคราวด์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) เพื่อต้องการให้ภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมมือร่วมลงทุนพัฒนาเมืองจากโครงการต่างๆ
โดยรูปแบบ Crowdfunding มีจำนวน 4 ประเภท คือ
1.Donation Crowdfunding หรือการบริจาคโดยผู้บริจาคไม่หวังผลตอบแทน หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้บริจาคได้รับบุญเป็นสิ่งตอบแทนซึ่งเหมาะสำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคม หรือเพื่อการกุศล ตัวอย่างคือ กฐิน ผ้าป่า หรือโครงการวิ่งก้าวคนละก้าวของนักร้องชื่อดังของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมทั่วทุกภาค
2.Reward Crowdfunding เป็นการระดมทุนในรูปแบบการให้ผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งตอบแทน โดยผลิตภัณฑ์นี้ต้องมีไอเดียแปลกใหม่ มีนวัตกรรม หรือเป็นสิ่งไม่เคยมีใครผลิตมาก่อน โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลิตภัณฑ์ สิทธิพิเศษ หรือสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ นั่นคือ ผู้ลงทุนอาจจะได้รับสินค้าราคาพิเศษหรือก่อนรายอื่นเมื่อเข้ามาร่วมระดมทุน เป็นต้น ตัวอย่างที่กำลังจะนำไปใช้คือ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด ที่จะใช้ระบบนาฬิกาเป็นอาณัติสัญญาณแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือให้ผู้ป่วยติดเตียง คนชราที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ให้ 1669 เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที
3.Lending Crowdfunding หรือ Peer to Peer Lending (P2P) การระดมทุนในรูปแบบของการกู้ยืมเงิน โดยมีตัวกลางจัดให้มีสัญญาสินเชื่อระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยผู้ให้กู้จะต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสินเชื่อ นั่นคือผู้ให้กู้ได้ดอกเบี้ย เป็นสิ่งตอบแทน ปัจจุบันหากมีการกู้ยืมกันระหว่างบุคคลต่อบุคคลจะอยู่ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบนี้เกิดขึ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต.มีรูปแบบ หุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้ง (Debt Crowdfunding) ที่สามารถออกหุ้นกู้ได้ โดยบริษัทระดับสตาร์ทอัพ หรือ SMEs ที่มีปัญหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือเรื่องเครดิตกับสถาบันการเงินต่างๆ แต่ต้องการที่จะกู้เงินจากมวลชนซึ่งเป็นนักลงทุนทั่วไป
4. Equity Crowdfunding ระดมทุนในรูปแบบของการให้หุ้น โดยมีตัวกลางทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับเงินปันผล หรือส่วนต่างราคาหุ้น นั่นคือ ผู้ลงทุนได้หุ้นเป็นสิ่งตอบแทน
“ในประเภทที่ 3 หุ้นกู้คราวด์ฟันดิ้ง มีวงเงิน 2- 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6-22% ซึ่งเริ่มในปี 2562 ที่ผ่านมาโดยมีการอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว 1 ราย คือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด ที่ให้บริการทั้งหุ้นคราวด์ฟันดิง และหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่ให้บริการหุ้นกู้ไปแล้ว 2 โปรเจ็กต์ มีเงินระดมจำนวน 10 ล้านบาท แต่ยังไม่ใช่บริษัทพัฒนาเมือง โดยประเภทที่ 4 ใกล้เคียงที่จะนำไปใช้กับบริษัทพัฒนาเมืองมากที่สุดที่จะให้เป็นหุ้นของบริษัทแต่ละเมือง โดยบริษัทสระบุรีพัฒนา จำกัด มีความสนใจในประเภทนี้และคาดว่าจะเปิดตัวโครงการภายหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 นี้ไปแล้ว”
นอกจากนั้นในประเภทที่ 4 พบว่าได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว 2 แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มแรก คือ ไลฟ์แพลตฟอร์ม (LIVE) ที่ถือหุ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 99.99% และแพลตฟอร์มที่ 2 คือ สินวัฒนา (SINWATTANA) ซึ่งเป็นเอกชนที่ผู้บริหารเป็นชาวสิงคโปร์ โดยไลฟ์แพลตฟอร์มระดมทุนไปแล้วมี 2 บริษัท โดยไม่เกี่ยวกับบริษัทพัฒนาเมือง แต่พบว่าไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุน เนื่องจาก ก.ล.ต. กำหนดว่าหากเป็น Equity Crowdfunding จะต้องระดมทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วจะต้องได้จำนวนทุน 100% อาทิ ระดมทุน 10 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาคือ 60 วัน นั่นคือ 2 เดือนจะต้องระดมทุนให้ได้ครบ 10 ล้านบาทจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ บริษัทจึงจะได้รับเงินจำนวน 10 ล้านบาทไปดำเนินการ
“หากภายใน 60 วันไม่ประสบความสำเร็จก็จะต้องคืนเงินให้นักลงทุนที่มาระดมทุนทั้งหมด เพราะระดมทุนไม่ได้ตามเป้า แต่ถ้าเป็นประเภท Debt Crowdfunding เพียงระดมทุนได้ 80% จะได้รับเงินนั้นไปได้เลย”
ในส่วนของสินวัฒนาแพลตฟอร์ม ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคมปี 2562 ที่ผ่านมาที่มีบริษัทสามารถระดมทุนได้จำนวน 18.6 ล้านบาท จำนวนนักลงทุนกว่า 70 ราย นั่นคือ โปรเจ็กต์แฮริสันบุชเชอร์ร้านอาหารสเต็กเนื้อ
ดังนั้นหากจะดำเนินการระดมทุนรูปแบบ Equity Crowdfunding ให้กับบริษัทพัฒนาเมืองต่างๆที่ให้เป็นหุ้นก็น่าจะให้แพลตฟอร์มของสินวัฒนาเข้าไปดำเนินการ เนื่องจากไลฟ์แพลตฟอร์มมี SET สนับสนุนจึงมีเงื่อนไขในการคัดเลือกบริษัทเข้าไปดำเนินการจะเข้มงวดมากกว่ากฎที่ ก.ล.ต.กำหนด รวมถึงนักลงทุนจะต้องเป็นนักลงทุนจริงๆที่มีสินทรัพย์จำนวนมาก มีทุนหนาจริง ในขณะที่สินวัฒนามีความพยายามทำตามข้อกำหนด นักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดา ใครก็ได้เพียงแต่กำหนดว่าลงทุนได้บริษัทละไม่เกิน 1 แสนบาท ปีละไม่เกิน 1 ล้านบาท นั่นคือไม่เกิน 10 บริษัท
“ดังนั้นบริษัทพัฒนาเมืองหากใช้กฎการระดมทุนของชุมชน ดังตัวอย่างโครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงการ จึงมีความน่าสนใจ เพราะถ้าเป็นคนทำงานทั่วไปที่สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทซึ่งน่าจะเป็นจำนวนเงินเยอะมาก มีมากลงทุนมาก จึงคุยกับสินวัฒนาว่าจะเริ่มต้นกันที่บริษัทพัฒนาเมืองแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อจุดประกายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้”