สกสว.เร่งบ่มเพาะพัฒนาเมืองรุกสมาร์ทซิตี้
สกสว. ผนึก จุฬาฯ เร่งบ่มเพาะ พัฒนาเมืองอัจฉริยะ เน้น กลุ่มเอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ติวเข้ม 5 เมืองนำร่องพร้อมเร่งออกแบบรายละเอียดตามแผนปฏิบัติการ จ่อดึงต่างประเทศเข้ามาร่วมขับเคลื่อนสร้างเน็ตเวิร์ค จับตาแผนลงทุนคราวน์ฟันดิ้งกระตุ้นการพัฒนาเชิงรุก
ดร. ชูพรรณ โกวนิชย์ กรรมการบริหารหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงเรื่องกระบวนการบ่มเพาะ (incubator) ใน smart city ว่า การผลักดันโครงการสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นได้จริง จำเป็นต้องมีการบ่มเพาะบริษัทพัฒนาเมืองให้ขับเคลื่อนโครงการให้มีความคืบหน้า ดังนั้นทีมบ่มเพาะจะมีหน้าที่เหมือนผู้ศึกษาวิจัยและให้คำปรึกษา ลักษณะการทำงานร่วมกับบริษัทพัฒนาเมืองจะเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่มีต้นแบบช่วยในการวิจัย ที่นำ “เครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” มาใช้ในการบ่มเพาะ 5 จังหวัดนำร่อง ภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยจะต้องมีทีมช่วยในการคิดค้น นำต้นแบบต่างๆ มาสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลได้รวดเร็ว และจัดลำดับความสำคัญว่าส่วนไหนควรทำ หรือไม่ควร
ประการสำคัญการดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์รูปแบบทั่วไป ที่ต้องใช้หลักการบริหารทั้งในเชิงธุรกิจและโปรเจ็กต์ปกติ ที่สำคัญคือ การสร้างโครงการแล้วต้องสามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน จึงมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกว่าที่เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ต้องศึกษา วิเคราะห์ ความคุ้มค่า วัตถุประสงค์โครงการ ว่าจะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับสังคมอย่างไรบ้าง ทั้งชุมชนเมืองในแต่ละท้องที่และจะต้องสอดคล้องกับนโยบายของท้องถิ่นนั้นด้วย สอดคล้องกับนโยบายสาธารณะซึ่งจะเกี่ยวโยงการมีส่วนได้ส่วนเสียของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ
จากนั้นจึงจะไล่เรียงแต่ละปัญหาว่าคืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร โครงการมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study)รวมทั้งจะต้องไปจัดหาแหล่งทุนที่ไหน ซึ่งกระบวนการดำเนินการจะต้องนำข้อมูลรายละเอียดจากหลายแห่งมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละรูปแบบเพื่อนำข้อมูลไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป
ดร. ชูพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเมื่อทำแผนเชิงปฏิบัติจะพบว่าประเด็นปัญหาคืออะไร จะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไรโดยโครงการนี้มีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562-พฤษภาคม 2563 มีแผนดำเนินการนำร่องก่อนจาก 5 บริษัทพัฒนาเมืองจากทั้งหมด 15 บริษัทพัฒนาเมือง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สระบุรี ระยอง และสงขลา(หาดใหญ่) หากมีการจัดโครงการเรียนรู้แต่ละโครงข่ายจะต้องเรียนรู้แต่ละเมืองควบคู่กันไป มีอัตลักษณ์แต่ละเมืองอย่างไร บางเมืองต้องหาจุดหลักของเมืองให้ชัดเจน
สำหรับขอนแก่นพัฒนาเมืองพบว่าดำเนินการมาช่วงก่อนหน้านี้แล้วหลายเดือน หากจัดอยู่ในแผนงานตามขั้นตอนจัดว่าอยู่ในระดับที่ 4 ซึ่งจะต้องหาผู้เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ส่วนจะเป็นรูปแบบการลงทุนอย่างไร ทั้งคราวน์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) หรือบล็อกเชน(Block Chain) หากดูจากข้อมูลแล้วจะพบว่าโครงการของขอนแก่นคงต้องใช้ผู้บริหารการเงินมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ ยิ่งหากเป็นระดับนานาชาติจะดีอย่างยิ่ง หรือผสมผสานจากภายในประเทศและจากต่างประเทศที่ใกล้เคียงกับส่วนที่ได้ลงทุนไปแล้วเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ
ในส่วนเมืองอื่นๆอาทิ หาดใหญ่ พบว่ามีโครงการชัดเจนคือ “คลองเตยลิ้งค์” ที่สอดรับกับนโยบายท้องถิ่น ดังนั้นแต่ละแห่งจึงจะต้องไปค้นพบให้เจอว่าจะลิ้งค์กับอะไรในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆได้บ้าง มีผลลัพธ์อย่างไร มีผลต่อการพัฒนาแต่ละระยะอย่างไรบ้าง
โดยเชียงใหม่พัฒนาเมืองนั้นจัดอยู่ในระยะที่ 3 จาก 4 ระยะที่วางแผนไว้ ทราบว่าดำเนินการมานานแล้วเช่นกันบางอย่างต้องคิดกรอบดำเนินการเพื่อทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จากนั้นค่อยลงลึกในรายละเอียด บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้รูปแบบเดิมแต่เอามาปรับปรุงบางส่วน ให้สามารถตอบโจทย์ได้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความหลากหลาย
เช่นเดียวกับสระบุรีพัฒนาเมือง เด่นชัดกว่าใครนั้นมีอยู่ราว 4-5 โครงการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นกำหนดเป็น App งานดี จะเน้นส่งเสริมด้านแรงงานในพื้นที่ให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ ส่วนโปรเจ็กต์อื่นพบว่ามีแผนพัฒนาให้สระบุรีเป็นฮับด้านอาหาร หรือรูปแบบเดลี่ฟาร์มเพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านอาหารระดับประเทศและอาเซียน โดยจะร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้สนใจและนักลงทุนทั่วไป อีกทั้งจะมีการดึงเน็ตเวิร์คต่างประเทศเข้ามาร่วมประสานงานและดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งเพื่อการนำเข้า ส่งออก การเพิ่มมูลค่าจากองค์ความรู้ต่างๆ เบื้องต้นพบว่านิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการขายผลิตภัณฑ์ที่พัฒนานวัตกรรมจนเกิดมูลค่าเพิ่มสูงมาก กลายเป็นต้นน้ำที่ผลิตให้กับบริษัทเอกชนผู้ผลิตระดับโลกมาแล้ว ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จด้านนวัตกรรมในวงการน้ำนมโคของดีสระบุรีนั่นเอง
ประการสำคัญปัจจุบันท้องถิ่นแต่ละแห่งมีสิ่งที่จะได้เรียนรู้ได้อย่างชัดเจน ผู้ประกอบการต่างตื่นตัวในการคิดว่าอนาคตต่อไปทิศทางเมืองสระบุรีจะไปในทิศทางใด วิเคราะห์ว่าอะไรมีความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ ยิ่งช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่มีความจำเป็นด้านอาหารจำนวนมากจะเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญด้านการผลิตอาหารหรือพัฒนาเป็นแหล่งอาหารกันมากขึ้น
สำหรับสิ่งที่มองในระดับต่อไปคือเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งสระบุรีพัฒนาเมืองจะเข้ามามีบทบาทในด้านนี้มากขึ้น จะทำได้รวดเร็วและช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง จึงหารือร่วมกับสกสว.พัฒนาเป็นแต่ละโมเดลต่อเนื่องกันไป ว่าจะหยิบโมเดลไหนไปพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่
“ยอมรับว่าทุกท้องถิ่นมีความชำนาญในการทำธุรกิจ มีผู้นำธุรกิจที่มีประสบการณ์สูง แต่การเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้มีความเข้าใจที่ดีในด้านนโยบายของแต่ละเมืองนั้นๆทั้งนโยบายสาธารณะที่ผลักดันมาจากท้องถิ่น ชุมชนนั้นๆที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย โดยจะใช้หลักรัฐศาสตร์เข้าไปบริหารจัดการ แต่การขับเคลื่อนจะต้องใช้หลายมิติบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งสามารถดึงพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ได้อีกด้วย”
ดร.ชูพรรณ กล่าวต่อว่า หากอีก 27 จังหวัดมีความตื่นตัวนำรูปแบบนี้ไปใช้จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก ร่นระยะเวลาดำเนินการได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่จะใช้ระบบไฟแนนซ์เข้าไปดำเนินการ บริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มการใช้รูปแบบคราวน์ฟันดิ้ง (Crowdfunding) ของกลุ่มสินวัฒนามีความเป็นไปได้อย่างมากในการส่งเสริมเรื่องการลงทุนโครงการต่างๆ
ประการหนึ่งนั้นหากมองทั้ง 5 เมืองในระยะ 3-5 ปีนี้พอจะฉายภาพให้เห็นได้ว่า หาดใหญ่จะเห็นความชัดเจนของการขับเคลื่อนโครงการคลองเตยลิ้งค์ ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นำความโดดเด่นของคลองที่ผ่านพื้นที่ใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ให้สามารถตอบโจทย์คนท้องถิ่นได้หลากหลาย
ส่วนระยองพัฒนาเมืองจะได้เห็นโครงการรูปแบบสมาร์ทเฮลท์มอนิเตอร์ เซอร์วิส อินโนเวชั่น ใช้งานกับคนสูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ผู้ป่วยติดเตียง และผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้แต่มีผู้ดูแลสวมใส่เครื่องมอนิเตอร์ หากล้ม หรือมีความผิดปกติ ระบบจะแจ้งเตือนไปยัง Call Center เพื่อทราบและประสานรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลทันท่วงที จะลดความสูญเสียหรือการดูแลรักษาพยาบาลที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามมา เป็นโครงการที่มีประโยชน์ลดความกังวลของลูกหลานเมื่อปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว
ส่วนเชียงใหม่พัฒนาเมืองจะพอเห็นภาพที่ชุมชนรอบคูเมืองที่มีความต้องการระบบรักษาความปลอดภัยมากขึ้น มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยแนะนำนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับสระบุรีพัฒนาเมืองจะเห็นความร่วมมือของเอกชนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาอาหารรูปแบบฟู้ดเทค สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆป้อนสู่ตลาด ในส่วนขอนแก่นพัฒนาเมืองคงจะเป็นโค้งสุดท้ายที่จะขับเคลื่อนระบบไฟแนนเชียลแต่ละโครงการ ดังนั้นจึงพอเห็นภาพการขับเคลื่อนแต่ละท้องถิ่นชัดเจนยิ่งขึ้น
“โดยมหาวิทยาลัยทำการวิจัยแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบร่วมกับนักธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลจากกลุ่มแชร์ลิ่งของสมาร์ทซิตี้ระดับโลก นอกจากนั้นคำตีความกับความหมายของสมาร์ทซิตี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงว่าเมืองอัจฉริยะทางเทคโนโลยีเท่านั้น ยังรวมถึงเมืองที่ดีน่าอยู่ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของแต่ละเครือข่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะประเด็นการวิเคราะห์โอเพ่นดาต้าต่างๆ ทำให้มองเห็นประเด็นต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นล้วนเป็นแรงกระตุ้นความร่วมมือจากหลายฝ่ายได้ทั้งสิ้น” ดร.ชูพรรณ กล่าวในตอนท้าย