อีไอซี คงคาดการณ์มูลค่าการส่งออไทยปี 63 อยู่ที่ -12.9% หลังโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดหนักฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยต่อเนื่อง
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center - EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมาว่า มีการขยายตัวที่ 4.2% โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีคือ รถจักรยานยนต์ 22.6% คอมพิวเตอร์ 17.6% และเครื่องปรับอากาศ 8.1% ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ -28.7% เม็ดพลาสติก -15.3% เคมีภัณฑ์ -14.9% ข้าว -13.3% ยางพารา -24.7% และมันสำปะหลัง -13.1%
โดยการส่งออกทองขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 215.2% จากการที่ราคาทองอยู่ในระดับสูง มีตลาดหลักคือ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี การส่งออกทองคำขยายตัวสูงถึง 221% สินค้ายานพาหนะอื่น ๆ ขยายตัวมากถึง 1,263.2%โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งกลับอาวุธซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าประมาณ 559.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม อีไอซี คงการคาดการณ์มูลค่าส่งออกของไทยในปี 2563 นี้อยู่ที่ -12.9% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยล่าสุด ทั้งโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 2.4 ล้านคน และมีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก จึงเป็นที่มาของมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2563 นี้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากรายงานล่าสุดของ IMF WEO รอบเดือนเมษายน IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะหดตัวกว่า -3% ซึ่งถือเป็นอัตราหดตัวมากสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติ Great Depression นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อด้านคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก พบว่าดัชนีลดลงอย่างรวดเร็ว สะท้อนว่าการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การส่งออกของไทยยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหา supply chain disruption โดยจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในหลายประเทศ กระทบต่อการค้าของโลก และกระทบต่อภาคส่งออกไทย ได้แก่ 1. ไทยส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางลดลง เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของหลายประเทศ 2. ไทยมีอุปสรรคในการผลิตสินค้าส่งออก เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางจากหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ในส่วนของราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการลดลงของมูลค่าส่งออกในปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยมีราคาต่ำสุดในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ 14.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดมีสาเหตุหลักจากการลดลงของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกตามภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงความกังวลด้านการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า