การแพร่การจายของเชื้อไวรัส Covid- 19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกของเราต้องรับมือกับโรคระบาด ซึ่งถ้านับมาตั้งแต่ปี 2000 โลกของเราต้องเจอกับปัญหาโรคระบาดใหญ่มาประมาณ 5 ครั้ง วันนี้ทาง Terrabkk จึงขอพามาย้อนรอยดูกันว่าตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมามีโรคระบาดอะไรบ้างที่โลกของเราต้องรับมือ และส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างไร 

2002-2003 : โรคซาร์ส (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง 

          ระบาดหนักในช่วงปลายปี 2002 ถึงปี 2003 พบการติดเชื้อครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และมีการระบาดอย่างรุนแรงในปี 2003 ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในปี 2003 มีผู้ติดเชื้อ 8,098 คน ใน 29 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 774 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 9.8% ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย 

          สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยว ในปี 2002 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 711 ล้านคน รายได้ของภาคการท่องเที่ยวในปีนั้นมีมูลค่าประมาณ 576 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 19.61 ล้านล้านบาท แต่ในปีถัดมาปี 2003 ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 701 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปประมาณ 10 ล้านคน ในมีมูลมูลค่าการท่องเที่ยว 634 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 21.56 ล้านล้านบาท หลังจากสถานการณ์ดีขึ้นในปี 2004 จำนวนนักท่องเที่ยวโตขึ้นจากเดิม 10% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2003 มูลค่าการท่องเที่ยวโตขึ้น 16% จากจำนวนมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2003 ในปี 2004 มีจำนวนนักเที่ยวประมาณ 775 ล้านคน มูลค่าการท่องเที่ยว 757 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25.75 ล้านล้านบาท

          ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการแพร่ระบาดของโรคซาล์เช่นเดียวกันโดยปี 2002 มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 10.9 ล้านคน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดทำให้ในปี 2003 ทำให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลงเหลือประมาณ 10.1 ล้านคน ลดไป 7.8% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2002 และเมื่อควบคลุมสถานการณ์ได้แล้วในปี 2004 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.7 ล้านคน ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 14%จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2003 

          ด้านของมูลค่าการท่องเที่ยว ปี 2002 ของประเทศไทยมีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.35 ล้านล้านบาท หลังจากเกิดการแพร่ระบาดทำให้ในปี 2003 มูลค่าดกรท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ส่งผลให้ปี 2003 มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2002 และเมื่อควบคลุมสถานการณ์ได้แล้วในปี 2004  ไทยมี มีมูลค่าการท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2003 

          ภาคการท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบมากนักในการแพร่ระบาดครั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากการระบาดครั้งนี้ไม่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เพราะมีการระบาดอยู่ใน 29 ประเทศ

        

2009 : โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1)

          เดือนเม.ย.2009 มีรายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศเม็กซิโก ก่อนที่จะระบาดไปยัง 116 ประเทศทั่วโลก ซึ่งข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ในปี 2009 พบว่ามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่า 6.2 แสนคน จำนวนผู้เสียชีวิตที่ WHO ยืนยันอยู่ที่ไม่ถึง 20,000 ส่วนสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) คาดการณ์ว่าโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตประชากรโลกรวมกว่า 280,000 คน สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยพบว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.2009 ไทยมีผู้ติดเชื้อฯ 30,956 ราย และข้อมูลจากกระทรวงสาธารสุข ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในไทยอยู่ที่ 196 ราย (10 ม.ค. 2009)

          สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2009 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 911 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีได้มีการระบาด ถึง 4% ในปี 2008 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 950 ล้านคน มีมูลค่าทางด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1,010 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเช่นกันหากเทียบกับปี 2018 ลดลง 11% มูลค่าการท่องเที่ยวในปี 2018 อยู่ที่ 1,110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปีถัดมา ปี 2010 หลังสามารถจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดได้แล้วตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวโตเพิ่มขึ้นประมาณ 6 % จากปี 2010 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 971 ล้านคน มูลค่าการท่องเที่ยวโตเพิ่ม 8% จากปี 2010 มีมูลค่าประมาณ 1.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

          สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไทย ปี 2008 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 14.4 ล้านคน ในปีที่เกิดการระบาดปี 2009 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 14 ล้านคน ลดลง 3% จากปี 2008 หลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 2010 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 15.9 ล้านคน โตขึ้น 11% จากปี 2009

          ในด้านของมูลค่าการท่องเที่ยวประเทศไทย ปี 2008 มีมูลการค่าการท่องเที่ยวประมาณ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.77 ล้านล้านบาท ในปีที่เกิดการระบาดปี 2009 มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 19.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 0.67 ล้านล้านบาทล ลดลง 13.6% จากปี 2008หลังจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 2010 มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 23.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.81 ล้านล้านบาท มูลค่าการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 16.7 % จากปี 2009 

          แสดงว่าเหตุการณ์การระบาดในครั้งนี้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้คนทั้งงดการเดินทางไปท่องเที่ยวและลดมูลค่าเงินในการท่องเที่ยวลง ทาง Terrabkk เชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุที่การระบาดในครั้งนี้เป็นการระบาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความมั่นใจในการเดินทาง

 

 

2012 : โรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome: MERS)

          โรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 พบการติดเชื้อครั้งแรกที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในปี 2012 ก่อนแพร่กระจายไป 27 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 2,494 ราย เสียชีวิต 858 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4% สำหรับประเทศไทยพบว่า มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2 ราย ในปี 2015 เป็นชาวโอมาน 1 ราย และชาวคูเวต 1 ราย 

          สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2012 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,070 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2011 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1,010 ล้านคน มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 1,275 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2011 ที่มีมูลค่าการท่องเที่ยวประมาณ 1,231 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นในปี 2013 จำนวนนักท่องเที่ยวโต 5% จากจำนวนนักท่องปี 2012 มูลค่าการท่องเที่ยวโต 7% จากมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2012  ในปี 2013 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1,122 ล้านคน มูลค่าการท่องเที่ยว 1,369 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

          ส่วนในประเทศไทย ในปี 2012 เป็นช่วงที่การท่องเที่ยวไทยกำลังได้รับความนิยม ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราโตต่อเนื่องเกิน 10% มาตั้งแต่ปี 2010 ถือว่าเป็นช่วงที่ดีของการท่องเที่ยวไทย โดยในปี 2012 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 22 ล้านคน โตขึ้น 14% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2011 มีมูลค่าของการท่องเที่ยว 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.18 ล้านล้านบาท โตขึ้น 11% จากมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2011 

          ทาง Terrabkk เชื่อว่าที่เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวของโลกและประเทศไทยมากนัก น่าจะมาจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดที่ไม่ได้เป็นการแพร่ระบาดในวงกว้าง มีผู้ได้รับผลกระทบ 27 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง จึงทำให้นักท่องเที่ยวยังคงมาเที่ยวประเทศไทยอยู่ เนื่องจากอยู่ในแถบเอเชียที่ไม่ได้ความเสี่ยงจากโรคมากนัก

2014-2016 : โรคอีโบลา (Ebola Haemorrhagic Fever)

          โรคอีโบลา (Ebola Haemorrhagic Fever) จัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับ โรคไข้เลือดออก อันเกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรง พื้นที่การระบาดของโรคนี้พบมากในแถบแอฟริกา ปรากฎขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1976 ในประเทศซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2014 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2016  ซึ่งข้อมูลจาก WHO ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อประมาณ 28,000 คน มีผู้เสียชีวิต 11,000 คน มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ยประมาณ 50% แพร่กระจายในแถบแอฟริกาตะวันตก หลักแล้วมีการแพร่กระจายใน 3 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ในประเทศไทยเองปัจจุบันยังไม่พบเชื้อไวรัสนี้

          สถานการณ์ท่องเที่ยวในปี 2014 ถึง 2016 ในปี 2014 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 1,177 ล้านคน มีมูลค่าด้านการท่องเที่ยวประมาณ 1,445 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมยังมีการเติบโตจากปี 2013 อยู่ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวมีอัตราเติบโต 5% และมูลค่าการท่องเที่ยวเติบโต 5% เช่นเดียวกัน ในปีต่อมา ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,227 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2014 แต่มูลค่าของการท้องเที่ยวลดลง 4% เหลือ 1,391 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2016 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3% มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 1,271 ล้านคน มูลค่า 1,417 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมแล้วจากปี 2014 ถึง 2016 มูลค่าของการท่องเที่ยวลดลงไป 2%

          สถานการณ์ในประเทศไทย ปี 2014 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 24 ล้านคน ลดลง 7% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2013 มีมูลค่าการท่องเที่ยว 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.31 ล้านล้านบาท ลดลง 9% จากมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2013 หลังจากสถานการณ์เริ่มสงบลงในปี 2015 ที่ทั่วโลกเริ่มคลายกังวลกับการแพร่ระบาด ส่งผลให้ในปี 2015 มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 29.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.1% จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2014 มีมูลค่าท่องเที่ยวประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% จากมูลค่าการท่องเที่ยวปี 2014

          แต่สาเหตุที่นักท่องเที่ยวหายไปจากประเทศไทยในช่วงนี้ไม่ได้มาจากแค่ปัจจัยของการระบาดของเชื้อไวรัส อีโบลา แต่คาดว่ามาจากปัจจัยภายในประเทศของประเทศไทยเองด้วย เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเมือง เกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

2019-Now : COVID-19 หรือ Corona Virus Disease 2019

          COVID-19 หรือ Corona Virus Disease 2019 เป็นไวรัสที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2019 จนมาถึงปัจจุบัน (ปี 2020) โดยเป็นไวรัสที่มีอาการไม่แน่นอน คล้ายไข้หวัด แต่บางรายก็ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งความอันตรายของไวรัส Covid-19 คือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ที่ปัจจุบันยังไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดว่า ไวรัส Covid-19 สามารถลอยอยู่ในอากาศได้กี่ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายกับการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ไวรัสโคโรนาไม่ได้หยุดแค่เพียงอู่ฮั่น เพราะปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนและลามไปมากกว่า 173 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันมีผูัป่วยทั่วโลก 3,077,007 คน มีผู้เสียชีวิต 211,953 คน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวน 2,938 คน มีผู้เสียชีวิต 54 คน ข้อมูล ณ 28-04-2020

          สำหรับด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทย ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีจำนวนประมาณ 40.5-40.9 ล้านคน ขยายตัวประมาณ 2.0%-3.0% เป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี และจะเป็นการเติบโตเฉพาะบางตลาด โดยหลักจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้อย่างภูมิภาคเอเชีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป โอเชียเนียและตะวันออกกลาง ยังมีแนวโน้มที่ปรับลดลง แต่หลังจากเกิดสถานการณ์ Covid-19 ศูนย์วิจัยกสิกรคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกอาจหดตัวสูง 75%-80% (YoY) หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลกเฉลี่ยประมาณเดือนละ 20-30 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 0.7-1 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่มีการเดินทางต่างประเทศเฉลี่ยวันละประมาณ 4 ล้านคน เนื่องจากประเทศที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาล้วนเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก 

          จากการวิเคราะห์บัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Sattellite Account: TSA) คาดว่าตลอดปี 2563 ผลกระทบทางตรง (Direct Impact) เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

          The Economist Intelligence Unit (EIU) ประเมินว่า การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าหรือปี 2021 ส่งผลให้โลกสูญรายได้มากถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนน้อยลงราว 30-40% สูญรายได้ราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2.18 แสนล้านบาท)

          เมื่อมาดูตัวจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเดือน มกราคม-มีนาคม ปี2563 จะเห็นได้ชัดเจนว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากตัวเลขเดือนมีนาคม 2563 กับมีนาคม 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวลดลงถึง 76.4% จากนักท่องเที่ยวเดือนมีนาคม 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนมูลค่าการท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในเดือนมีนาคม ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง  77.6% จากรายได้จากนักท่องเที่ยวเดือนมีนาคม 2562 

          ถ้าดูจากการแพร่ระบาดทั้ง 5 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2000 Covid-19 ถือเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดและมีผลกระทบร้ายแรงที่สุด และยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าเรามองย้อนกลับไปดูจากการแพร่ระบาดของ 4 โรคก่อนเกิดCovid-19 เราจะเห็นว่าในปีที่มีการแพร่ระบาดภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่หลังจากสถานการณ์ดีขึ่้นสถานการณ์การท่องเที่ยวจะโตแบบก้าวกระโดด โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยแค่ 1 ปีเท่านั้น เราก็หวังว่าในหลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 จบลง การท่องเที่ยวของโลกและของประเทศไทยจะฟื้นตัวโดยไว 

Source : data.worldbank.org/indicator/st.int.rcpt.cd ,kasikornresearch.com/th,statista.com

หมายเหตุ : ค่าเงินบาทคิดเฉลี่ยอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ