Sharing Economy สร้าง รายได้ จากการพึ่งพากัน
Sharing Economy รูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เน้นการเติบโตแบบลุยเดี่ยว แต่ใช้พลังของการแบ่งปันและความร่วมมือ ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ที่ตอบรับความต้องการของผู้คนในวงกว้าง
หากพูดถึง Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน อาจมีบางคนไม่รู้จัก แต่ถ้าผมขอลองยกตัวอย่างธุรกิจที่คุ้นหูกันดีอย่าง Grab, Uber, Airbnb, Hubba, Line และ Joox หลายคนคงพอนึกภาพออกใช่ไหมครับ วันนี้ผม ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับเศรษฐกิจแบ่งปันกันให้มากขึ้นเองครับ
หลักการของธุรกิจแนวนี้ คือ การร่วมมือกันทำธุรกิจผ่านสิ่งของหรือบริการของฝ่ายหนึ่งผ่านแพลตฟอร์มของอีกฝ่ายหนึ่ง ยกตัวอย่าง Startup ที่นำแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็นธุรกิจจนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศไทย นั่นก็คือ Grab ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถประเภทต่าง ๆ โดยบริษัทไม่ได้มีรถเป็นของตนเอง แต่วางฐานะเป็นตัวกลางในการให้ข้อมูลว่า มีใครที่ต้องการใช้บริการและมีใครที่สามารถให้บริการได้บ้าง ซึ่งการทำธุรกิจลักษณะนี้ได้รับความนิยมมาก ๆ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู และทุก ๆ คนคุ้นชินกับโลกดิจิทัลมากขึ้นครับ
ก่อนอื่น เราลองมาแยกกลุ่มกันดูครับว่า มีใครที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแนวนี้บ้าง
สิ่งที่กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ คือ การใช้ทรัพยากรที่ตัวเองไม่มี มาสร้างรายได้ เพียงวางระบบให้ดี คิดถึงทั้งฝั่งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยวางจุดยืนของตนเองอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างการส่งของ คุณไม่ต้องไปจ้างพนักงานส่งของมาเป็นพนักงานประจำของคุณซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่คุณสามารถเลือกจ้างคนส่งขอเป็นครั้ง ๆ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม
กลุ่มที่สอง คือ ผู้ใช้บริการ
คนกลุ่มนี้จะได้ความหลากหลายที่มากขึ้น พร้อม ๆ กับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้สร้างแพลตฟอร์มเสนอให้ เช่น ถ้าผมจะเดินทางไปท่องเที่ยว แล้วไม่อยากพักโรงแรมเดิม ผมก็เข้าแอปฯ จองโรงแรมที่รวมโรงแรมในพื้นที่นั้น ๆ มาให้ผมแล้ว ทั้งนี้แอปฯ ยังช่วยให้ผมสามารถกรองห้องพักแบบที่ผมอยากได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 4-5 ดาว กำหนดงบ เลือกเฉพาะที่มีระเบียงใหญ่ ๆ มีมื้อเช้าแถมให้ ก็ทำได้ แถมยังได้เก็บแต้มเอาไปแลกเป็นส่วนลดคราวหน้าได้อีก
กลุ่มนี้จะคล้าย ๆ กับกลุ่มแรก แต่กลับกันนิดหน่อย คือ มีของที่จะขายแล้ว แต่ไม่มีที่ให้ลง เช่น นายบีเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังในย่านนั้น แต่เขาก็อยากให้คนที่อยู่ในพื้นที่อื่นได้ลิ้มลองอาหารของเขาบ้าง แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดสาขาเพิ่มหรือจ้างคนส่งของมาประจำร้าน เขาก็เลยนำร้านไปฝากกับแพลตฟอร์มส่งอาหาร แล้วเมื่อไหร่ที่มีคนสนใจอาหารเขา ทางแพลตฟอร์มก็จะส่งคำสั่งมาที่ร้านเขาว่า เดี๋ยวจะมีคนมารับอาหารเมนูนี้นะ ให้ทำเตรียมไว้ แล้วถึงเวลาก็มีคนมารับ แล้วเอาไปส่ง นายบีก็ขายของได้ โดยที่ไม่ต้องไปแบกรับค่าใช้จ่ายในการขยายสาขา หรือจ้างคนส่งของประจำ
ผมมองว่า เศรษฐกิจแบ่งปันนี้ คือ การถ้อยทีถ้อยอาศัยกันครับ ถ้าจะอิงสุภาษิตสำนวนไทยก็คงจะเป็น “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” แต่เป็นแบบ win-win นะครับ เพราะได้รายได้และประโยชน์ทุกฝ่าย
ส่วนหนึ่งผมมองว่า ผู้ใช้บริการนี้เป็นตัวแปรหลักเลย เพราะถ้ามีคนให้บริการ มีแพลตฟอร์มดี แต่ไม่มีคนมาใช้ ก็ไม่สามารถทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แล้วจะทำอย่างไรให้คนมาใช้ดีล่ะ ผมมองว่า เราต้องสร้างความไว้วางใจให้ได้ครับ ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่า ฉันมาใช้แพลตฟอร์มของคุณ ฉันได้อะไรมากกว่าสิ่งที่ฉันเคยทำ อาจจะเป็นการมอบสิทธิพิเศษให้ ความสะดวกสบาย และที่สำคัญคือความไว้วางใจครับ เมื่อไหร่ที่ผู้ใช้บริการมั่นใจในแพลตฟอร์มของคุณ รู้สึกปลอดภัยที่จะใช้แล้ว คุณสามารถทำให้เขาประทับใจในการให้บริการ คุณก็จะได้ลูกค้าเรื่อย ๆ แน่นอนครับ
สำหรับฝั่งแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการ ผมมองว่า พวกคุณต้องจับเข่าคุยกันว่า อะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกันทั้งสองฝ่าย เพราะอย่างไรก็ดี คุณทั้งสองต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างแน่นอน และเป็นระยะเวลานานด้วย หากทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การจัดการและวางระบบภายในก็เป็นเรื่องสำคัญนะครับ อย่างการวางระบบทางการเงิน บริการจัดการค่าใช้จ่าย ถ้าใช้เวลาในการดำเนินการนาน ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง ผ่านขั้นตอนมากมาย แม้แต่การจ่ายและชำระเงินก็จะกลายเป็นตัวถ่วงธุรกิจได้เช่นกัน สำหรับใครที่สนใจทำเศรษฐกิจแบ่งปัน ผมอยากให้ศึกษาพร้อมเพย์ไว้ เพราะทั้งสองฝ่ายสามารถซื้อขาย โอนชำระออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มนี้อันเดียวไปเลย ทั้งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วยนะครับ สุดท้ายแล้ว หากคุณมีความคิดริเริ่มแล้ว อย่ารอช้า ลองลงมือทำเลยนะครับ
SOURCE : www.krungsri.com