ภาษาโควิด
หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า "โควิด-ไนน์ทีน" (COVID-19)1 ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 เพียง 34 วันหลังจากนั้น ชื่อโรค COVID-19 ก็ได้ถูกบรรจุอย่างเป็นทางการลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออนไลน์ของ Merriam-Webster และตามมาด้วยพจนานุกรมออนไลน์ของ Oxford ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการบัญญัติคำใหม่ที่เร็วเป็นประวัติการณ์ของประวัติศาสตร์พจนานุกรม
นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในแทบทุกมิติของการใช้ชีวิตแล้ว การระบาดของโควิด-19 ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของภาษาครั้งใหญ่ คำที่ในอดีตเคยไม่คุ้นหูอย่าง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) “การกักตัว” (Quarantine) หรือ “การทำงานจากที่บ้าน” (Work from Home) กลายเป็นคำที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย และขึ้นแท่นเป็นคำพูดยอดฮิตติดปากของใครหลายคน
เมื่อคนเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์อะไรร่วมกัน ก็มักจะมีการสร้างสรรค์คำใหม่ขึ้น เพื่อใช้อธิบายสถานการณ์และสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ซึ่งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในยุคโควิด ก็นำมาสู่การเกิดขึ้นของคำสแลง (slang) ใหม่ ๆ ที่ถูกเอามาใช้อธิบายพฤติกรรมของผู้คนท่ามกลางสถานการณ์นี้ด้วย เช่น
- “Covidiot”
คนที่ไม่สนใจและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข อย่างเช่นคนที่กักตุนหน้ากากอนามัยมากเกินกว่าที่จำเป็นจนทำให้ผู้ที่ต้องการจริง ๆ ไม่มีใช้ หรือคนที่ยังออกไปรวมตัวกันในที่สาธารณะทั้งที่ไม่มีเหตุอันควร ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดต่อของโรคทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง
- “Doomscrolling”
พฤติกรรมการเสพข่าวร้ายอย่างต่อเนื่องแม้ว่าข่าวเหล่านั้นจะทำให้หดหู่หรือเศร้าใจแค่ไหนก็ตาม
- “Covideo Party”
การสังสรรค์แบบเสมือนด้วยการดูภาพยนตร์ร่วมกัน ซึ่งเกิดจากไอเดียของนักแสดงตลกสาวชาวไอริช อลิสัน สปิตเทิล (Alison Spittle) ที่ให้คนในทวิตเตอร์ร่วมกันเลือกว่าจะดูหนัง Netflix เรื่องอะไร และให้ทุกคนเปิดดูพร้อม ๆ กัน ซึ่งขณะรับชมก็สามารถแสดงความคิดเห็นและพูดคุยกันผ่านทวิตเตอร์ เพื่อให้รู้สึกว่าเหมือนมีเพื่อนดูหนังอยู่ด้วยกันจริง ๆ
- “Quarantini”
ชื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูตรเฉพาะที่แต่ละคนผสมดื่มเองที่บ้านในช่วงกักตัว
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษา คือการที่มัน “เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” ไม่ว่าจะเป็นการเกิดคำใหม่ การที่ความหมายของคำเปลี่ยนไป การเปลี่ยนตัวสะกด หรือการเปลี่ยนวิธีออกเสียง เหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของภาษาในข้อนี้ได้อย่างชัดเจน
1COVID-19 มาจากคำย่อในภาษาอังกฤษของคำว่า “โคโรนาไวรัส” (Corona Virus) และคำว่า “โรค” (Disease) ส่วนเลข 19 หมายถึงปี 2019 ที่มีรายงานการแพร่ระบาดเป็นครั้งแรก
ที่มาภาพ : Glen Carrie/Unsplash
ที่มา : บทความ “From Covidiot to Doomscrolling: How Coronavirus Is Changing Our Language” โดย Arwa Mahdawi จาก theguardian.com
บทความ “How COVID-19 Led Merriam-Webster to Make Its Fastest Update Ever” โดย Stefan Fatsis จาก slate.com
บทความ “Oxford Dictionary Revised to Record Linguistic Impact of COVID-19” โดย Alison Flood จาก theguardian.com
เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ