The New อีสาน : From Urbanisation to Globalisation
ภาพของภูมิภาคที่แห้งแล้ง ปัญหาความยากจน และแลจะด้อยพัฒนากว่าภูมิภาคอื่น คือภาพที่เราหลายคนจดจำเกี่ยวกับภาคอีสานของไทย แต่ใครบ้างที่รู้ว่าปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันกว้างใหญ่ (ที่สุดในประเทศ) นี้ กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าสู่การเป็น “อีสานยุคใหม่” ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจอันสำคัญของไทยซึ่งพร้อมเชื่อมต่อสู่เวทีโลก
สู่ความเป็นเมือง
ความเป็นเมือง (Urbanisation) เป็นคำที่นักวิชาการใช้ในการจำกัดความปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการเป็นชนบท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายใน 30 ปีสัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเขตเมืองทั่วทุกมุมโลกจะมีมากถึงร้อยละ 68 หรือประมาณ 6,700 ล้านคน จากประชากรโลกทั้งหมด 9,800 ล้านคน ส่วนประเทศไทยนั้น ปัจจุบันก็มีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองแล้วกว่าร้อยละ 51 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.5 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ชนบทเหลือเพียงร้อยละ 30.5 เท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีแค่ “กรุงเทพมหานคร” ที่เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวอีกต่อไป แต่จังหวัดอื่น ๆ จะทยอยมีความเจริญเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ในส่วนของภาคอีสาน จะเห็นว่าช่วงทศวรรษหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา อีสานเติบโตและเปลี่ยนแปลงตามระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงปี 2523 - 2543 ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 1.8 ล้านคนเป็น 3.5 ล้านคน และหากมองจากมุมเศรษฐกิจ อีสานมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงที่สุดในประเทศ โดยโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อลองดูที่จีดีพีรายภูมิภาค (Gross Regional Product) จะพบว่าเศรษฐกิจอีสานที่ผู้คนมักมองว่ารายได้หลักมาจากภาคการเกษตรนั้น กลับมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ได้มาจากภาคการเกษตรสูงถึงร้อยละ 79 และในทางกลับกัน รายได้จากภาคเกษตรมีเพียงร้อยละ 21 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา
ความหลากหลายทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคอุตสาหกรรมชัดเจน ได้แก่ นครราชสีมา และขอนแก่น จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคการค้าและบริการเด่น ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองคาย สกลนคร และชัยภูมิ จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากภาคเกษตรกรรม ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ นครพนม เลย ยโสธร อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองบัวลำพู และมุกดาหาร |
เส้นทางสู่อนาคต
ภายใต้พื้นที่กว่า 1.68 แสนตารางกิโลเมตร ตลอดจนจำนวนประชากรกว่า 21 ล้านคนของภาคอีสาน ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างยิ่งทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การเป็น “หน้าด่าน” ของการค้าการลงทุนจากชายแดนและต่างประเทศ ด้านพื้นที่และแรงงานที่มีพร้อมทั้งฐานการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงด้านการเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ภาคอีสานมีความพร้อมที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ แผนการลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงข่ายคมนาคมยังเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กระจายตัวสู่ทุกพื้นที่ในภูมิภาค หนึ่งในนั้นคือโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลจีนกับชาติต่าง ๆ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับนานาประเทศ ครอบคลุมกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งภาคอีสานของไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีนด้วย
โดยโครงการที่ไทยกำลังร่วมมือกับจีนนั้น คือการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย และเส้นทางหนองคาย-เวียงจันทร์ ซึ่งแม้อาจจะมองได้ว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยขยายอิทธิพลของจีนบนเวทีโลก แต่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยเองก็ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างงาน ช่วยกระตุ้นและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือทางการค้าการลงทุนผ่านการเชื่อมภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเข้าด้วยกัน
และคงไม่มีอะไรที่แน่นอนไปกว่าความเจริญที่จะก้าวเข้ามาทั้งในเชิงพื้นที่ และคุณภาพชีวิตของประชากรผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรด้านวัฒนธรรมและทัศนคติที่เปิดกว้าง ซึ่งสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความร่วมมือของโลกในปัจจุบัน ณ ภูมิภาคแห่งนี้
ที่มา :
บทความ “Belt and Road Initiative เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว?” จาก scbeic.com
บทความ “อีสานมุมใหม่ คำบอกเล่าจากนักเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น” จาก voicetv.co.th
เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ
SOURCE : www.tcdc.or.th