สอนลูกให้ปรับตัวต่อ New Normal ด้วยหลัก REBT
ในโลกปัจจุบันที่สถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาอย่างมากต่อการใช้ชีวิต เพราะเราต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal หมายความว่า อะไรที่เคยทำเป็นประจำในชีวิตก่อนหน้านี้ที่เคยมา เช่น ไม่เคยใส่หน้ากากอนามัย ไม่ค่อยล้างมือเวลาหยิบจับสิ่งของ ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าเป็นประจำ ดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ทุกสัปดาห์ ปาร์ตี้กับเพื่อน ๆ ทุกคืนวันศุกร์ ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก
อย่างในปัจจุบันเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิด New Normal ที่ทุกคนต้องอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน พกเจลล้างมือติดตัว ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในบ้าน และอีกมากมายที่เราไม่คุ้นเคย ขนาดเราที่เป็นผู้ใหญ่แล้วยังรู้สึกเลยค่ะว่าชีวิตยาก แล้วกับเด็ก ๆ ละค่ะ ดิฉันว่าก็น่าจะยากไม่ต่างกัน และชีวิตในอนาคตของพวกเขายังจะต้องเจอการเปลี่ยนแปลงอีกมากที่ทำให้เกิด New Normal ขึ้นมาอีก ดังนั้น ด้วยความห่วงใยจากเราชาว iSTRONG ดิฉันจึงขออนุญาตพาคุณมารู้จักกับวิธีการสอนลูกให้ปรับตัวต่อ New Normal และสถานการณ์ไม่คาดฝันด้วยหลัก REBT กันค่ะ ซึ่งหลัก REBT ย่อมาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อ Rational Emotive Behavior Therapy หรือ ทฤษฎีการบำบัดแบบเน้นเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม โดย Albert Ellis นักจิตวิทยาสายพฤติกรรมศาสตร์ค่ะ
หลักการของ REBT ก็คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์หนึ่งโดยการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อของบุคคลค่ะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น น.ส. A มีความเชื่อว่าชีวิตนี้จะรวยได้ก็เพราะถูกหวย นางจึงฝึกฝนตนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการตีความตัวเลข โดยพฤติกรรมเด่นก็คือ การใส่ใจทุกสิ่งอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความฝัน จิ้งจกทัก คำพูดของเด็กน้อย ซึ่งผลของพฤติกรรมที่ว่ามาทำให้ น.ส. A ไม่สนใจทำงานอย่างอื่นเลย คอยแต่หาตัวเลขเพื่อไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาลุ้นความรวบทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน และแน่นอนค่ะว่านางก็ยังไม่รวยเสียที
เมื่อนำพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของ น.ส. A มาวิเคราะห์ตามหลัก REBT ก็จะได้ตามนี้ค่ะ
B – Behavior (พฤติกรรมที่เป็นปัญหา) = ไม่สนใจทำงาน หมกหมุ่นแต่การหาตัวเลขมาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล
E – Emotive (อารมณ์ที่ตอบสนองต่อความเชื่อ หรือพฤติกรรม) = มีความสุขและกระตือรือร้นอย่างมากต่อการค้นหาตัวเลข
R – Rational (ความเชื่อที่ก่อให้เกิดอารมณ์และพฤติกรรมที่เป็นปัญหา) = เชื่อว่าจะรวยเพราะถูกหวย
ดังนั้น หากเราจะแก้พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาของ น.ส. A เราต้องไปแก้ไขตามลำดับ คือ R, E, และ B โดยวิธีแก้ไขก็คือ พิสูจน์ความเชื่อ (R) ของ น.ส. A โดยการให้ น.ส. A จดบันทึก เงินที่นำไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เปรียบเทียบกับเงินรางวัลที่ได้รับในช่วงเวลา 6 เดือน เมื่อ น.ส. A เห็นตัวเลขอย่างเป็นรูปธรรม (ไม่เคยได้รางวัลเลย) จะรู้สึกเศร้า/โกรธ และท้อต่อการหวังจะรวยเพราะหวย (E) น.ส. A เลิกซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เลิกหมกหมุ่นกับการค้นหาตัวเลข มาใส่ใจในการทำงานจริง ๆ จัง ๆ แทน (B)
จากเคสของ น.ส. A คุณจะเห็นเลยนะคะว่า “ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน” หรือ ที่ภาษาทางการเขาเรียกว่า “Paradigm Shift” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้ชีวิตแบบ New Normal เพราะหากเราสามารถนำทฤษฎีจิตวิทยา REBT มาปรับใช้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ เราก็สามารถรักษาสุขภาพจิตของเราให้สามารถใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ได้อย่างมีความสุขค่ะ ซึ่งวิธีการที่สามารถนำหลัก REBT มาปรับใช้ในการสอนเด็ก ๆ ก็มีวิธีการ 5 วิธี ดังนี้
1. สนับสนุนให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะพิสูจน์ความเชื่อ (พัฒนา R)
ในการฝึกเรื่องการพิสูจน์ความเชื่อ คุณสามารถใช้ทั้งหลักจิตวิทยา คือ การแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง หรือ การยกตัวอย่างที่ชัดเจนให้เด็กเห็น (Role Model) ซึ่งภาษาทางการเรียก “กรณีศึกษา” หรือใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ คือ การสังเกต หรือการใช้หลักทางศาสนา เช่น หลักกาลามสูตร ซึ่งเป็นหลักแห่งความเชื่อ 10 ประการ ก็สามารถนำมาใช้ในการพิสูจน์ความเชื่อได้เช่นกันค่ะ
2. สนับสนุนให้เด็ก ๆ มีเหตุผล (พัฒนา R)
การฝึกเหตุผลนั้น วิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การฝึกการวางแผน เพราะการวางแผนจะทำให้เด็ก ๆ คิดอย่างเป็นระบบค่ะ ก็คือ ผลย่อมมาจากเหตุ หากสามารถคิดอย่างเป็นระบบได้ เด็ก ๆสามารถเชื่อมโยงสาเหตุและผลลัพธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้นั่นเองค่ะ ซึ่งการฝึกการวางแผนก็สามารถทำได้โดยการสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะการวางแผน เช่น การต่อจิ๊กซอว์ ต่อบล็อกไม้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการวางแผน การจัดลำดับการดำเนินการ การมองในองค์รวมนั่นเองค่ะ
3. ฝึกสติ (พัฒนา R)
เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ที่เรารักสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสตรอง ก็คือ “สติ” ค่ะ สติมา ปัญญาเกิด ซึ่งวิธีฝึกสติที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การอยู่กับตัวเอง การสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร มีความรู้สึกอย่างไร มีความคิดอย่างไรต่อสิ่งที่ทำ ซึ่งวิธีที่นิยมใช้มากในการฝึกสติให้กับเด็ก ๆ ก็คือ การกำหนดลมหายใจ เข้า – ออก และการนั่งสมาธิค่ะ
4. สอนให้เด็ก ๆ รู้ทันอารมณ์ (พัฒนา E)
ในการสอนให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง นักจิตวิทยาได้แนะนำว่าต้องเริ่มจากการให้เด็กรู้จักอารมณ์ต่าง ๆ เสียก่อน ซึ่งตัวช่วยในการสอนก็มีมากมายค่ะ เช่น หนังสือนิทาน สมุดภาพ ตุ๊กตา สื่อการสอนต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครอง สอนให้เด็ก ๆ รู้จักว่าอารมณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไร และเมื่อได้รู้จักอารมณ์กันแล้ว เราจะสามารถฝึกการควบคุมอารมณ์ได้โดยการควบคุมลมหายใจ การเรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย หรือระบายความรู้สึกด้วยวิธีต่าง ๆ ได้เช่นกันค่ะ
5. สอนให้เด็ก ๆ สังเกตพฤติกรรมตนเอง (พัฒนา B)
การฝึกให้เด็กสังเกตพฤติกรรมตนเอง ถือว่าเป็นการฝึกที่ง่ายที่สุดจากทั้ง 5 ข้อที่แนะนำมาเลยค่ะ เพราะพฤติกรรมของเรา เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ จับต้องได้ และยังเป็นการฝึกที่สำคัญที่สุด เพราะปัญหาในชีวิตเราส่วนใหญ่ก็มาจากพฤติกรรมของเราค่ะ ซึ่งวิธีการฝึกอย่างง่าย ๆ ก็คือ ให้เด็กบอกเล่าพฤติกรรมเด่น ๆ หรือที่ทำบ่อย ๆ ให้เราฟังในแต่ละวัน หรือจดบันทึกเป็นไดอารี่ก็ได้ค่ะ แล้วเรามาถาม - ตอบ กับเด็ก ๆ ว่า พฤติกรรมเหล่านั้นทำให้เกิดผลต่อเขาเองอย่างไร เกิดผลต่อคนอื่นอย่างไร หากเป็นพฤติกรรมที่ดีก็เสริมแรงด้วยการชมอย่างจริงใจ หากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็ชี้ให้เขาเห็นถึงผลเสียว่า ใครจะเดือดร้อนเพราะเขา และค่อย ๆ ปรับกันไป วิธีนี้นอกจากจะได้ประโยชน์เรือ่งการปรับพฤติกรรมแล้ว ยังช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ด้วยค่ะ
บทความแนะนำ “เสริมความสตรองให้ลูกด้วย EFs ในช่วงปิดเทอมที่ยาวนาน”
การใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ยากค่ะ แต่ในเมื่อยังมีชีวิต เราก็ต้องใช้ ยิ่งในฐานะผู้ให้กำเนิดของลูก ๆ หรือผู้ดูแลเด็ก ๆ หน้าที่สำคัญ คือ การฝึกให้เขาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ค่ะ ซึ่งดิฉันหวังว่า 5 วิธีการสอนลูกให้ปรับตัวต่อ New Normal และสถานการณ์ไม่คาดฝันด้วยหลัก REBT จะเป็นประโยชน์ต่อคุณและเด็ก ๆ ที่รักนะคะ
iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 5 ปี
SOURCE : www.istrong.co