สกสว.จุดพลุ ชุมชนตลาดใต้ ศูนย์กลางเชื่อมโยงพัฒนาเมืองพิษณุโลก
สกสว.ร่วมกับชุมชนตลาดใต้เร่งขับเคลื่อนโครงการวิจัย “การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับเมืองด้วยการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนตลาดใต้ จังหวัดพิษณุโลก” หวังกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านใจกลางเมือง หลังพ้นวิกฤติโควิด-19
นายธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าโครงการวิจัย “การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับเมืองด้วยการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนตลาดใต้ จังหวัดพิษณุโลก” เปิดเผยว่าตามที่ได้เร่งบูรณาการความคิดพัฒนาฟื้นฟูย่านการค้า “ชุมชนตลาดใต้” แหล่งวัฒนธรรมและศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองโดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงานวิจัย TRF Flagship Reseach Program : TRP ปี 2562 ล่าสุดเดือนมิถุนายนนี้เริ่มเดินหน้าโครงการได้อีกครั้งสำหรับการเปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ชุมชนตลาดใต้
โดยในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมในเรื่องพื้นที่และชุมชน ทั้งข้อมูลทุติยภูมิ คือ เอกสาร งานวิจัยและภาพถ่ายในอดีต รวมถึงการสัมภาษณ์ประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมถึงประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังได้ถ่ายทำวิถีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดใต้ในมุมมองต่าง ๆ เช่น อาหารการกิน ที่พักอาศัยและสถานที่ออกกำลัง เป็นต้น รวมถึงวางแผนในเรื่องการจัดการทางกายภาพเชิงพื้นที่มากขึ้น พร้อมกับพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมจะนำมาพัฒนาก่อน เพื่อนำเสนอชุมชนร่วมกันพิจารณาถึงเรื่องอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของพื้นที่ดังกล่าวนี้เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งในส่วนผู้ประกอบการ ชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น
หลังจากนั้นเมื่อได้ความชัดเจนเรื่องพื้นที่แล้วจึงจะสร้างกิจกรรมให้เกิดการสร้างแบรนด์ที่ชัดเจนควบคู่กันไปด้วย โดยการร่วมกันของประชาชนและเทศบาลเมืองพิษณุโลกมีโครงการเปิด “ตลาดใต้ในยามเย็น” เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีฐานข้อมูลเก็บไว้บางส่วนแล้ว อาทิ ร้านอาหารและร้านค้าในตลาดใต้ที่จะต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกับวางแผนดึงศิลปินชื่อดังในด้านงานอาร์ตติสรูปแบบต่างๆ ร่วมกิจกรรมในช่วงตอนเย็น
ทั้งนี้ ในอดีตพบว่าตลาดใต้เป็นตลาดที่เปิดให้บริการตั้งแต่รุ่งเช้าจรดค่ำ ปัจจุบันเปิดเฉพาะช่วงเช้า จึงต้องสร้างกิจกรรมให้ตลาดใต้แห่งนี้มีสีสันตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดใต้ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการสร้างเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลก แต่ด้วยโลกการค้ายุคใหม่ปรับเปลี่ยนไปจึงต้องปรับโฉมให้พื้นที่เกิดการพัฒนาอย่างสอดคล้องด้วยการดึงร้านค้า ร้านอาหารเข้ามาเปิดให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน พร้อมกับมีความพยายามเชื่อมโยง 3-4 จุด คือ ร้านค้า ร้านอาหาร ศาลเจ้า เชื่อมโยงไปถึงตลาดไนท์บาซาร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสู่พื้นที่ตลาดกลางแห่งนี้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น แม้จะสะดุดไปในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ข้อมูลยังขับเคลื่อนมาโดยตลอด จากแผนเดิมจะเปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ต้องเลื่อนออกไปก่อน พร้อมกับเลือกพื้นที่ทำเลที่เหมาะสมให้เป็นพื้นที่สตรีทอาร์ต จัดทำหน้ากากงิ้วด้วยการใช้พื้นที่ด้านหน้าศาลเจ้าดำเนินการจัดเอ็กซิบิชั่นเกี่ยวกับงานอาร์ต อีกทั้งยังจะใช้ถนนในส่วนของศาลเจ้าทับทิมจัดแสดงถึงสื่อการวิจัยที่ทางกลุ่มดำเนินการในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังเตรียมประสานกับโครงการที่ผมได้เป็นที่ปรึกษาและได้รับรางวัลจากธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อนำข้อมูลมาเชื่อมโยง โดยแสดงผลงานเป็นคิวอาร์โค้ดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับพื้นที่ตลาดใต้แห่งนี้และนักท่องเที่ยวจะสามารถได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยจะส่งมอบงานให้กับเทศบาลให้กับชุมชนตลาดใต้ในวันที่ 5 มิถุนายน 2563
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนรักตลาดใต้ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในเข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงการร่วมกัน ถึงแม้เป็นกลุ่มคนรักตลาดใต้เล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและเครือข่าย โดยมีแผนดำเนินการร่วมกันทำกิจกรรมเปิดตลาดใต้ยามเย็น เบื้องต้นนั้นมีแผนจะเปิดตลาดยามเย็นสัปดาห์ละ 1-2 วันและไม่ทับซ้อนกับตลาดถนนคนเดินซึ่งเปิดทุกวันเสาร์
ทั้งนี้ยังมีแนวคิดอยากดึงคนทุกรุ่นที่รักษ์ถิ่นพิษณุโลกเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้า มาร่วมกันจัดอีเว้นต์ต่างๆ ให้เมืองมีชีวิตชีวามากขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถต่อยอดแนวคิดการพัฒนาจากคนรุ่นเก่าแล้วนำมาผสมผสานประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับปัจจุบัน จึงน่ายินดีที่พบว่ามีคนหลายกลุ่มให้ความร่วมมือพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไปด้วยกัน
“สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องคือในพื้นที่ชุมชนตลาดใต้ยังมีชาวจีนอาศัยอยู่และมีการตั้งสมาคมชาวจีนไหหลำและอีกหลายชาติพันธ์ุอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม แต่ละพื้นที่ล้วนมีอัตลักษณ์ของตนเองชัดเจน ดังนั้น จึงเชื่อว่าแนวทางการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองพิษณุโลกดังกล่าวจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องและชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว เป็นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างแลนด์มาร์กการพัฒนาพื้นที่อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมแรงใจกันทุกฝ่ายจึงเร่งส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศสนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนตลาดใต้ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มีความเหมาะสมในพื้นที่ตลาดใต้แห่งนี้”