วิกฤติ 2540 VS วิกฤติ 2563
วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 กับวิกฤติ COVID-19 ปี 2563 นั้นมีความแตกต่างกันจึงต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการและฟื้นฟูที่แตกต่างกัน
ที่สำคัญคือแม้ว่าไทยจะสามารถควบคุมจนกระทั่งประเทศปลอด COVID-19 แล้ว แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากการระบาดที่ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องในหลายส่วนของโลกและการเปิดเศรษฐกิจที่ยังกระท่อนกระแท่นของไทยนั้น ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำที่สุด เพราะอาจต้องเผชิญกับความตกต่ำของรายได้และการตกงานที่รุนแรงกว่านี้อีก ในอนาคตการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้จะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า หากไม่มีการวางแผนและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะต้องการนำพาประเทศไทยให้ไปยืนที่จุดใดในเศรษฐกิจโลกที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปในยุคหลัง COVID-19
ส่วนวิกฤติในปี 2540 นั้นเกิดขึ้นเพราะประเทศไทยใช้จ่ายเกินตัวอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือในช่วง 2532-2539 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง 5-8% ของจีดีพี เปรียบเทียบได้ว่าซื้อสินค้าและบริการ 105-108 บาท แต่มีรายได้เพียง 100 บาทต่อปี จึงต้องยืมเงินจากต่างประเทศ (พึ่งพาการไหลเข้าของเงินทุน)
นโยบายการเงินของไทยก็มีส่วนในการทำให้การขาดดุลภาพดังกล่าวยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จะรับรู้ว่าการกำหนดดอกเบี้ยภายในประเทศให้สูง (เพื่อหวังที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ) แต่การที่ประเทศไทยเปิดรับทุนจากต่างประเทศ (โดยการส่งเสริม BIBF ให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศเพราะหวังจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค) และธปท.ยังตรึงค่าเงินให้คงที่ (Fixed exchange rate) นั้นเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกันเอง (impossible trinity) ผลที่ตามมาคือการประกันความเสี่ยงว่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าในขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศไทยเท่ากับ 13.5% แต่ดอกเบี้ยในต่างประเทศเท่ากับ 7% ทำให้ทุกบริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงินของไทยแข่งกันกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
เมื่อได้เงินมาแล้วก็นำเอาไปลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำและในขณะนั้นก็ยังมีความมั่นใจสูงว่าประเทศไทยกำลังจะเป็น “เสือ” ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่การลงทุนที่ “คุ้มค่า” ที่สุดในขณะนั้นคือการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เพราะเป็นภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า non-traded goods กล่าวคือต่างชาติผลิตบ้านที่อยู่อาศัยมาแข่งกับการผลิตบ้านที่อยู่อาศัยในประเทศไทยไม่ได้ ดังนั้นราคาอสังหาริมทรัพย์จึงจะถีบตัวสูงขึ้นได้มากกว่าการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเพราะต้องแข่งขันกับตลาดโลก ดังนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจึงมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมาก แต่การส่งออกเพิ่มตามไม่ทันจึงมีแต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นและต้องยืมเงิน (พึ่งพาการไหลเข้าของเงินทุน) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อหนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้ธนาคารต่างประเทศระมัดระวังมากขึ้นโดยการปล่อยกู้ระสะสั้นจนในที่สุดหนี้ระยะสั้นขยายตัวจนมีมูลค่าสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ในขณะที่ภายในประเทศธนาคารก็แข่งกันปล่อยกู้ให้บริษัทที่ลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีฟองสบู่มากกว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า
การถูกโจมตีค่าเงินบาทและวิกฤติที่ตามมาจึงเป็นการเร่งให้เกิดการปิดฉากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว โดยต่อมาไอเอ็มเอฟเข้ามาเติมทุนสำรองให้กับประเทศไทย แต่ต้องแลกกับการบีบอุปสงค์ภายในประเทศให้ลดลงอย่างฉับพลันโดยการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัว (ดอกเบี้ยขณะนั้นเป็นตัวเลข 2 หลัก) และปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% และเมื่อรวมกับการที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์เป็น 40-50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ทำให้ทุกบริษัทและธนาคารที่กู้เงินดอลลาร์จนลงหรือล้มละลายอย่างกว้างขวางจึงเรียกได้ว่าวิกฤติ 2540 เป็น “วิกฤติคนรวย”
ในช่วงนั้นก็มีคนตกงานประมาณ 1.4 ล้านคน แต่การลดค่าเงินบาททำให้ประเทศไทยขายสินค้าไปต่างประเทศได้มากขึ้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็เกิดขึ้น ภาคเกษตรกรรมก็ได้ประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ นอกจากนั้นเศรษฐกิจโลกก็แข็งแรงและขยายตัวได้ดี ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 35% ของจีดีพีปี 2539 มาเป็น 68% ของจีดีพีในปี 2562
หันมามองวิกฤติในวันนี้จะเห็นได้ว่าประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี (ท่องเที่ยวของคนไทยอีกประมาณ 8% ของจีดีพี) ในขณะที่การส่งออกสินค้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจีดีพี ดังนั้นจึงประเมินได้ว่าหากปีนี้การส่งออกสินค้าจะติดลบ 10% และรายได้จากท่องเที่ยวจากต่างประเทศน่าจะไม่มีเลยและการท่องเที่ยวของคนไทยก็น่าจะเหลือเพียงครึ่งเดียว ก็จะหมายความว่าอุปสงค์จะต่ำกว่าปกติประมาณ 5%+12%+4%=21% หมายความว่าโดยรวมกำลังซื้อลดลง 21% แต่ผลกระทบหนักที่สุดจะตกกับภาคบริการที่ต้องใกล้ชิดกับลูกค้า
ภาคที่มี “สายป่าน” สั้นที่สุดคือ SME ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านบริษัทจ้างงาน 12 ล้านคนและหากประเมินคร่าวๆ ว่า 1/3 ของ SME น่าจะประสบปัญหาอย่างมาก ก็เชื่อได้ว่ามี SME เป็นล้านรายและพนักงาน 5-7 ล้านคนที่เสี่ยงจะตกงานเพราะอ่อนแออยู่ก่อนแล้วและอนาคตของการท่องเที่ยวนั้นดูไม่แจ่มใสเลย
ตรงนี้จึงต้องตัดสินใจว่าจะจัดการกับปัญหาหนี้อย่างไร แนวทางหนึ่งคือการให้รัฐบาลเร่งทำโครงการจำนวนมาก (งบ 4 แสนล้านบาท) เพื่อสร้างงานใหม่แต่จะทำได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในการสร้างงานในจำนวนเพียงพอหรือไม่เพียงใดเป็นเรื่องที่ผมไม่มั่นใจมากนัก นอกจากนั้นก็ยังมีการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังลดพนักงานน่าจะเป็นจำนวนหมื่นคนและนักศึกษาจบใหม่อีก 4 แสนคน
อีกทางเลือกหนึ่งคือการช่วยเหลือ SME และพนักงานให้มีเงินทุน (working capital) ที่ยาวนานเพียงพอให้สามารถทำธุรกิจรักษาพนักงานเอาไว้ไม่ให้ตกงานและมีเวลาคิดปรับตัวไปสู่การทำธุรกิจที่เหมาะสมในโลกใหม่หลัง COVID-19 ทั้งนี้บางธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้ แต่การมีเวลาให้กับพนักงานปรับเปลี่ยนงานซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นล้านคนที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และความตกต่ำของเศรษฐกิจที่จะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน
SOURCE : www.bangkokbiznews.com