จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นบริษัทใหญ่ในโลกอย่าง กูเกิล อเมซอน อาลีบาบา และลาซาด้า ต่างมีกลุยทธ์การเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้จำนวนมาก ตั้งแต่ข้อมูลผู้บริโภค ที่อาจเริ่มจากข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการเข้าเว็บไซต์ ข้อมูลซื้อขาย รวมถึงข้อมูลสินค้า เช่นเดียวกันธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพใหญ่ๆ อย่างแกร็บ, อโกด้า, แอร์บีเอ็นบี และเน็ตฟลิกซ์ ก็ใช้วิธีการเดียวกันในการเก็บสะสมข้อมูล โดยหลายๆ บริษัทเหล่านี้ล้วนมีข้อมูลอยู่หลายเพตาไบท์ (1 เพตาไบท์ มีค่าเท่ากับ 1,024 เทราไบท์ และ 1 เทราไบท์ มีค่าเท่ากับ 1,024 กิกะไบต์)
ผู้บริโภคอย่างพวกเราที่ใช้บริการออนไลน์ของบริษัทเหล่านี้ สามารถสังเกตเห็นได้จากเว็บไซต์ หรือโมบาย แอพ ที่ใช้เป็นประจำว่า บริษัทเหล่านี้จะมีข้อมูลประวัติการสั่งซื้อสินค้าของเรา รวมถึงข้อมูลส่วนตัว ซึ่งสามารถเปิดดูข้อมูลจากแอพได้ จนเราก็อาจแปลกใจว่าเก็บเพื่ออะไรเพราะเก็บอย่างละเอียด ตั้งแต่สั่งซื้ออะไร เมื่อไร ส่งสินค้าที่ใด ขณะที่ทีวี สตรีมมิ่ง จะเก็บว่าชมภาพยนตร์เรื่องใด เมื่อไร หรือแม้แต่ร้านกาแฟที่มีระบบบัตรสมาชิกก็เก็บว่า ดื่มกาแฟอะไร เมื่อไร
การที่บริษัทต่างๆ แสดงให้เราเห็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่บริษัทเหล่านี้เก็บ เชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลต่างๆ ของเรามากมายกว่านั้น เช่น เก็บข้อมูลเข้าชมเว็บไซต์ เลือกชมสินค้าใด เวลาใด แม้จะไม่สั่งซื้อก็ตาม
จากข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่ทำให้บริษัทเหล่านั้น เข้าใจความต้องการผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และทำให้คาดการณ์ด้านต่างๆ ได้ ตั้งแต่เตรียมสินค้าตามความต้องการตลาด กำหนดราคาสินค้าได้เหมาะสม นำเสนอขายสินค้าตามความต้องการลูกค้าได้แม่นยำ เมื่อบริษัทเหล่านี้วิเคราะห์ข้อมูลได้ดี ยิ่งได้ลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีลูกค้ามากขึ้นยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นไปอีก บริษัทยิ่งมีศักยภาพที่ดีขึ้นวิเคราะห์ข้อมูลแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายรายเล็กที่ขาดข้อมูลหรือมีเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ จนทำให้เหลือรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่รายในแต่ละธุรกิจ นั่นคือเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า The winner takes all
การที่จะมีข้อมูลขนาดใหญ่ได้ นอกจากต้องมีความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมากแล้ว บริษัทต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้มหาศาลและต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ประมวลผลได้ บริษัทอย่าง อาลีบาบา กูเกิล หรือ อเมซอน ล้วนมีเซิร์ฟเวอร์หลายล้านเครื่อง มีสตอเรจขนาดใหญ่ และแต่ละวันต้องการการประมวลผลหลายเพตาไบท์ ขณะที่ยังมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมากที่วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมถึงทำปัญญาประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมในด้านต่างๆ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแข่งขันยุคใหม่ หากบริษัทมีข้อมูลน้อยมีทรัพยากรด้านไอทีหรือบุคลากรน้อยจะแข่งลำบาก และหากต้องแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ของต่างประเทศยิ่งทำให้บริษัทในประเทศที่ขาดข้อมูลยิ่งแข่งขันอย่างยากลำบาก
ดังนั้นบางประเทศ เช่น อินเดียจึงได้ตัดสินใจออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทนำข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่ซื้อขายออนไลน์ออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลออกนอกประเทศ อีกส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทที่อยู่ในประเทศ
สำหรับไทยก็พบกับปัญหานี้เช่นกัน จึงอาจจำเป็นต้องคิดถึงการรักษาอธิปไตยด้านข้อมูล ทำอย่างไรให้ข้อมูลอยู่ในประเทศ ทำอย่างไรให้บริษัทใหญ่ๆ มีข้อมูลมหาศาล ทำอย่างไรให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และทำอย่างไรให้ไทยมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจำนวนมากในการนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์
กลยุทธ์เหล่านี้ต้องผสานกันระหว่างธุรกิจกับด้านไอที ลำพังเพียงกลยุทธ์ไอทีไม่สามารถดึงข้อมูลขนาดใหญ่มาได้ หากไม่ได้กลยุทธ์ทางธุรกิจหรือการตลาดมาเสริม ถึงแม้ทีมไอทีจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขึ้นมา แต่จะเผชิญความยากที่จะทำอย่างไรให้มีผู้ใช้จำนวนมากและได้ข้อมูลที่สอดคล้องกับธุรกิจ
เช่นเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องออกกฎหมาย และมาตรการต่างๆ สนับสนุนภาคธุรกิจในประเทศเพื่อให้แข่งขันได้ในโลกปัจจุบัน อาจจำเป็นจะต้องออกกฎระเบียบให้ข้อมูลธุรกรรมต่างๆ อยู่ในประเทศ รวมถึงต้องหามาตรการทางภาษีมาส่งเสริมให้บริษัทในประเทศสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในด้านข้อมูลได้ เพราะสุดท้ายแล้วในวันนี้โลกกำลังแข่งว่าใครมีข้อมูลมากกว่ากัน
SOURCE : www.bangkokbiznews.com