ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เผยข้อมูลจากวารสาร cell พบว่า COVID-19 ที่ระบาดทั่วโลกขณะนี้เป็นสายพันธุ์ G ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่าย เพราะมีปริมาณเชื้อที่ลำคอค่อนข้างมาก แต่ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค พร้อมร่วม สปคม. เก็บข้อมูลเตรียมรับมือการแพร่ระบาดระลอก 2 

 

       ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อ้างอิงข้อมูลที่เผยแพร่ในวารสาร cell ว่า COVID-19 แพร่กระจายโรคได้ง่ายขึ้น

       แต่เดิมสายพันธุ์ของ COVID-19 เริ่มต้นจากประเทศจีนเป็นสายพันธุ์ S และสายพันธุ์ L ซึ่งสายพันธุ์ L แพร่กระจายได้ง่ายในนอกประเทศจีน แต่สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยในช่วงแรก เป็นสายพันธุ์ S มีลักษณะจำเพาะ ในตำแหน่ง 829 บน spike โปรตีน หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมา มีการเปลี่ยนแปลงเป็น Threonine (T829) เลยอยากเรียกว่าเป็นสายพันธุ์ T

       สายพันธุ์ T เป็น ลูกสายพันธุ์ S ขณะนี้น่าจะหมดไปแล้ว เพราะเกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น สายพันธุ์ L เมื่อไประบาดนอกประเทศโดยเฉพาะในยุโรป ได้ออกลูกหลาน เป็นสายพันธุ์ G และ V โดยสายพันธุ์ G มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง 614 บนหนามแหลมที่ยื่นออกมา (spike) โดยเปลี่ยนแปลงจาก Aspartate (D) ไปเป็น Glycine (G) หรือเรียกว่าสายพันธุ์ G614 สายพันธุ์ G นี้แพร่กระจายได้ง่ายมาก ออกลูกหลานมาเป็น สายพันธุ์ GH และ GR

สายพันธุ์ G แพร่กระจายง่าย พบเชื้อมากที่ลำคอ

       ข้อมูลในวารสาร cell ระบุว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสายพันธุ์ G แพร่ระบาดได้ง่าย เพราะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ G จะมีปริมาณเชื้อที่ลำคอค่อนข้างมาก จึงแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย ทำให้ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น แต่สายพันธุ์ G ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้น เพียงทำให้แพร่กระจายไปทั่วโลกได้มากขึ้น

        ดังนั้นขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก จึงเป็นสายพันธุ์ G มากที่สุด สายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและมาตรวจพบใน State Quarantine ของประเทศไทย จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสายพันธุ์ G แล้ว เชื่อว่าหากมีการระบาดในระลอก 2 สายพันธุ์ที่จะระบาดจะต้องเป็นสายพันธุ์ G ที่ย้อนกลับมาจากประเทศทางตะวันตก และในเอเชียอยู่ขณะนี้ไม่น่าจะเป็นสายพันธุ์ S ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย

เก็บฐานข้อมูลเตรียมรับมือระบาดระลอก 2 

        ขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในการศึกษาสายพันธุ์ที่พบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะที่อยู่ใน State Quarantine เพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐาน และหากมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็สามารถศึกษาย้อนกลับว่าสายพันธุ์ที่ระบาดน่าจะมาจากประเทศใด หากสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ S ตามที่ได้มีการศึกษาไว้ การระบาดระลอก 2 ก็จะต้องป้องกันอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค เป็นการติดตามการระบาดวิทยาและเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโรคได้ง่ายหรือยาก เพราะสายพันธุ์ G เจริญเติบโตได้ดีในทางเดินหายใจจึงมีปริมาณไวรัสมากกว่า

 

ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan