จับตา ‘สตรีมเมอร์-ยูทูบเบอร์’ เขย่าโลกแรงงานยุคดิจิทัลบูม
ซีอีโอภาคธุรกิจจับตาแรงงานแห่งอนาคต หลังโควิดบีบคนเข้าหาดิจิทัลมากขึ้น ดันอาชีพใหม่สร้างรายได้จริง "เกม-อีสปอร์ต" มาแรง ขึ้นแท่นอาชีพในฝันเด็กรุ่นใหม่ ขณะที่โลกคอนเทนท์บนยูทูบยังมีมนต์สะกด ปลุก "ยูทูบเบอร์ไทย" ครีเอทไอเดียสร้างสตอรี่ล้านวิว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โอกาสในการเข้าถึงงานยุคปัจจุบัน และในอนาคตเปิดกว้างมากขึ้นให้ผู้ที่มีทักษะเฉพาะทาง รวมทั้งมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายจากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ให้บริการอยู่บนโลกดิจิทัล และพิษของการแพร่ระบาดของโควิด ที่บีบให้คนใกล้ชิดกับโลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซี (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเข้าถึงงานยุคปัจจุบัน และในอนาคตเปิดกว้างมากสำหรับผู้ที่มีทักษะที่ตอบรับกับโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมภาคดิจิทัล ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ มีรายงานจาก Forbes เมื่อปี 2562 ตลาดเกมทั่วโลกสร้างรายได้ 152.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับปี 2561 และอุตสาหกรรมเกมยังถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 196 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
ขณะที่ตลาดเกมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ถึง 22% ในประเทศไทยปี 2562 อุตสาหกรรมเกมมีมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 13% จากปี 2561 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม คือ เกมมือถือ พีซี และคอนโซล
“จะเห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ทั้งในไทยและทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่ตามมา คือ ตลาดแรงงานของเกมและอีสปอร์ตที่กำลังเปิดกว้างมากขึ้น”
- อีสปอร์ตผุดอาชีพใหม่-เชื่อมโยงอุตฯ อื่น
ขณะที่ความนิยมกีฬาอีสปอร์ตที่กำลังมาแรง ได้ช่วยต่อยอดและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกมเข้ากับภาคธุรกิจอื่นๆ ทำให้อีสปอร์ตเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
มีการประเมินว่าปี 2565 จำนวนผู้รับชมกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 590 ล้านคน ทำให้ภาคธุรกิจต่างสนใจพุ่งเป้าการโฆษณามาที่วงการอีสปอร์ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสร้างฐานจากลูกค้ารุ่นใหม่เพื่อรองรับตลาดในอนาคต
นางสาวมณีรัตน์ กล่าวต่อว่า รายได้ที่หมุนเวียนในแวดวงกีฬาอีสปอร์ตมาจากหลายช่องทาง ได้แก่ รายได้จากผู้สนับสนุน ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าโฆษณา ค่าลิขสิทธิ์เกม ค่าตั๋วเข้ารับชม ค่าขายสินค้าที่ระลึกต่างๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เกิดอาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น นักพากย์การแข่งขันเกมอีสปอร์ต (Shoutcaster) นักพัฒนาเกม (Game Developer) ผู้สร้างและพัฒนาระบบเกมในส่วนของการเขียนโปรแกรมและการเขียนโค้ด (coding) ต่างๆ สตรีมเมอร์ (Streamer)
ซึ่งจะเล่นเกมออนไลน์ถ่ายทอดสด (live streaming) แบบเรียลไทม์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ค หรือ ทวิช เกมแอนิเมเตอร์ (Game Animator) ผู้สร้างสรรค์ผลงานสามมิติให้สามารถเคลื่อนไหวได้ ด้วยการใช้โปรแกรมออกแบบใส่เทคนิคต่างๆ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย
“กระแสอีสปอร์ตที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน หันมาพัฒนาและเปิดหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ด้วยการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมและอีสปอร์ตที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถเป็นตัวชี้วัดได้ว่าตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะเปิดกว้างรองรับอาชีพทางเลือกใหม่หากผู้ที่สนใจเปิดโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดอาชีพในวงการนี้”
- ยูทูบเบอร์ คอนเทนท์โดน-สร้างรายได้สูง
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการดิจิทัลไทยเผยว่า แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์อย่าง "ยูทูบ" ยังเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลักของกูเกิลที่ได้รับความนิยม เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ข้อมูลยูทูบประเทศไทย พบว่าทุกๆ นาที มีคอนเทนท์วิดีโอรวมกันมากกว่า 500 ชั่วโมง ที่อัพโหลดมายังยูทูบ หลายคนใช้แพลตฟอร์มนี้สร้างรายได้เกิดเป็นอาชีพยูทูบเบอร์ (Youtuber) กลายเป็นอาชีพในฝันคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย มีรายได้ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำงานอิสระ ไม่มีเงื่อนไขอายุมาเป็นข้อจำกัด
ข้อมูลของ Stock Digest พบว่า จำนวนช่อง ยูทูบในไทยที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.5 ล้านคน มีถึง 208 ช่อง เช่น Kaykai Salaider สาวน้อยน่ารักขวัญใจชาวเน็ตที่มีผู้ติดตามในช่องยูทูบกว่า 11 ล้านคน แต่ละคลิปมียอดวิวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านวิว อาชีพยูทูบเบอร์ดังๆ จึงสามารถทำเงินได้ไม่แพ้การทำธุรกิจส่วนตัว
แหล่งข่าวอธิบายว่า รายได้ของอาชีพยูทูบเบอร์ มาจากจำนวนยอดวิว x จำนวนโฆษณาที่แสดงผลในวิดีโอ x ราคาโฆษณาแบบ CPM (ราคาโฆษณาต่อการแสดงผลโฆษณาทุก 1,000 ครั้ง) โดยยูทูบเบอร์จะหักรายได้จากค่าโฆษณาอีกประมาณ 30-50% ส่วนที่เหลือจะแบ่งให้เจ้าของช่อง รายได้ของยูทูบเบอร์ยังมาจากการรีวิวสินค้าหรือเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย
จากการคำนวณรายได้ของอาชีพยูทูบเบอร์ จะเห็นว่ายอดวิวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นบันไดต่อยอดไปสู่การเป็นอินฟลูอินเซอร์ ซึ่งเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญของอาชีพยูทูบเบอร์ จะได้ค่าจ้างมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนซับสไคร์บ (Subscribe) ช่องความดังของตัวยูทูบเบอร์เอง ยอดคนกดไลค์ กดแชร์ คอมเมนท์ที่มีในวิดีโอนั้น มีตั้งแต่ได้ค่าจ้างหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนต่อคลิป
- แมนพาวเวอร์ชี้อาชีพฮิตยุคบิซิเนสดิสรัปฯ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ได้จัดอันดับกลุ่มอาชีพจากผลการสำรวจ โดยอาชีพและสายงานที่ขึ้นมาเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มอาชีพอิสระต่างๆ คิดเป็น 12.76% ประกอบด้วยคนทำงานประจำที่ต้องการทำงานเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม จากช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือนที่ผ่านมา หลายองค์กรปรับรูปแบบการทำงานเวิร์ค ฟรอม โฮม ทำให้มีการจัดสรรเวลา การทำอาชีพอิสระที่นำทักษะความรู้มาต่อยอดเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ควบคู่กัน
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มอาชีพด้านโลจิสติกส์, ซัพพลายเชนส์ และการขนส่งเดลิเวอรี่ คิดเป็น 10.32% นับเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มดังกล่าวเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการรองรับการซื้อสินค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ เป็นผลพวงจากการล็อคดาวน์ที่มีควบคุมการเข้าและเปิดปิดร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าในหลายพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
อันดับที่สามกลุ่มอาชีพงานที่ใช้ภาษาต่างประเทศ คิดเป็น 10.29% โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และ 3 เช่น กลุ่มภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น อันดับที่สี่ อาชีพค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ อันดับที่ห้า กลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์คนอยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการที่บ้าน (Service at home) เช่น งานซ่อมแซมบ้าน งานบริการตัดผม งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกกำลังกาย สัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
SOURCE : www.bangkokbiznews.com