‘แบงก์’ทยอยปิดสาขา ปีเดียวลดเฉียด 200 แห่ง
“แบงก์พาณิชย์” ยังทยอยลดสาขาลงต่อเนื่อง เผย 1 ปี ปิดไปแล้วเกือบ 200 สาขา โดย “ไทยพาณิชย์” ลดมากสุด 88 สาขา ตามด้วย “กรุงไทย” 79 สาขา ขณะ “กสิกรไทย” ปิดร่วม 30 สาขา มีเพียง “ไทยเครดิต” ที่เพิ่มขึ้นถึง 91 สาขา
ข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับ ‘สาขา’ ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงจากสิ้นปี 2562 โดยพบว่า หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการปรับลดสาขาและจุดให้บริการในประเทศลงถึง 179 สาขา มาอยู่ที่ 6,672 สาขา จาก 6,851 สาขา และหากเทียบกับสิ้นปี 2562 พบว่า มีการปรับลดสาขาลง 137 สาขา จาก 6,809 สาขา
ทั้งนี้ ด้านรายละเอียด พบว่าธนาคารที่มีการปรับสาขามากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือธนาคาร ไทยพาณิชย์ที่ 88 สาขา มาอยู่ที่ 954 สาขา จาก 1,042 สาขา และ หากเทียบกับสิ้นปี 2562 พบว่า ไทยพาณิชย์ปรับสาขาลงแล้ว 80 สาขา ถัดมาคือ ธนาคารกรุงไทย ที่มีการปรับสาขาลง 79 สาขา มาอยู่ที่ 1,079 สาขา ในพ.ค. จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1,105 สาขา แต่หากเทียบกับสิ้นปี 2562 พบว่ากรุงไทย ปรับลดสาขาไปราว 26 สาขา
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย พบว่า มีการปรับสาขาลง 30 สาขา มาอยู่ที่ 889 สาขาในปัจจุบัน จาก 919 สาขา และหากเทียบกับ สิ้นปี กสิกรปรับลดสาขาแล้ว 5 สาขา
อย่างไรก็ตาม มีเพียงหนึ่งธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ที่ปรับเพิ่มสาขา หากเทียบกับทั้งระบบ คือธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย โดยมีการปรับสาขาเพิ่มขึ้น 91 สาขา ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้สาขาปัจจุบันอยู่ที่ 516 สาขา และพบว่าตั้งแต่ปลายปี ธนาคารไม่มีการปรับลดสาขาลงเลย
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับลดสาขาลงบ้าง แต่ถือว่าค่อนข้างน้อย โดยจากข้อมูล ธปท. พบว่า สาขาธนาคารอยู่ที่ 1,137 สาขา ลดลงเพียง 21 สาขาในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และลดลง 11 สาขา จากสิ้นปีก่อน
อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้ผู้บริโภคจะมีการปรับพฤติกรรม และหันไปทำธุรกิจผ่านดิจิทัลมากขึ้น แต่เชื่อว่าสาขาของธนาคาร ก็ยังมีความจำเป็น และมีการเข้ามาใช้บริการผ่านสาขาในระดับสูงอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่าสาขาเป็นส่วนสำคัญ ในการช่วยลูกหนี้ แก้ปัญหาให้กับลูกหนี้ได้
ขณะที่มีกลุ่มลูกค้าบางส่วนที่ยังมีความต้องการสาขา ดังนั้นเชื่อว่า แม้ทิศทางสาขา จะปรับลดลงในอนาคต แต่เชื่อว่าจะไม่ลดลงอย่างหวือหวา หรือรวดเร็ว เพราะให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ทั้งนี้ในระยะข้างหน้า อาจเห็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะการควบรวมสาขาบางจุดเข้าด้วยกัน แต่เหล่านี้ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดการให้บริการ ในอนาคตอาจเห็นการธนาคารให้บริการทางการเงินผ่านแบงกิ้งเอเยนต์ หรือตัวแทนสถาบันการเงินมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือเพื่อเปิดรับแบงกิ้งเอเยนต์มากขึ้น
“วันนี้จะเห็นได้ว่าแบงกิ้งเอเยนต์ วันนี้สามารถทำธุรกรรมที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถต่อท่อธุรกรรมไปสู่อื่นๆ เช่นนอกจากฝากเงินแล้ว ยังสามารถใช้แบงกิ้งเอเยนต์ในการยืนยันตัวตนต่างๆได้ด้วย ดังนั้นการมีแบงกิ้งเอเย่นต์ไว้ก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าแบงก์ให้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องมาสาขาก็ได้ แต่มองว่าสาขาก็ยังจำเป็น เพราะวันนี้เราเห็นว่าเมื่อเกิดอะไร ลูกค้าก็ยังหันกลับมาพึ่งพาแบงก์ ดังนั้นการมีสาขาอยู่ก็สามารถช่วยซัพพอร์ตลูกค้าได้”
SOURCE : www.bangkokbiznews.com