อบจ. ระยองทุ่ม 2.3 พันล้าน ลุยบำบัดน้ำเสียครบวงจร
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เช่น ขยะ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและประชากร
ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) เปิดเผยว่า จังหวัดระยองเป็นหนึ่งใน 3 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่เขตอีอีซีและถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศที่จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งสร้างระบบสาธารณูปโภคด้านการบำบัดน้ำเสียรองรับการขยายของตัวของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
อบจ.ระยอง ได้จัดทำโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมบำบัดน้ำเสียรวมจังหวัดระยอง ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียรวมอำเภอปลวกแดง ซึ่งจะครอบคลุมอำเภอปลวกแดงมีประชาชนในพื้นที่ ตำบลมาบยางพร และดำบลปลวกแดง รวมทั้งสิ้นกว่า 55,000 คน มีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง โดยในเขตพื้นที่เขตควบคุมมลพิษประกอบด้วย เทศบาลนครระยอง เทศบาลมาบตาพุด เทศบาลตำบลเนินพระ เทศบาลตำบลบ้านฉาง เทศบาลเมืองบ้านฉาง เทศบาลตำบลทับมา เทศบาลตำบลมาบข่า และเทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา มีประชาชนในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 316,113 คน มีปริมาณน้้าเสียประมาณ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
“ทั้ง 2 พื้นที่นี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของ อีอีซี เพราะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยในปัจจุบันยังไม่มีการจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำระยอง และลำคลองต่างๆ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอปลวกแดง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภคของจังหวัดระยอง หากมีการปนเปื้อนจากการระบายมลพิษลงในแหล่งน้ำดังกล่าว อาจส่งผลกระทบขยายเป็นวงกว้างต่อไปยังชุมชนเมืองผู้ใช้น้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ”
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาด้วยการวางระบบบริหารจัดการน้ำเสียให้ครอบคลุมทั้งเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวจากการพัฒนาของอีอีซี จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้้าเสียรวมที่สอดคล้องกับพื้นที่ โดยผลการศึกษาแบ่งกลุ่มพื้นที่การจัดการน้้าเสียออกเป็น 2 กลุ่ม มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,309 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้้าเสียรวมอำเภอปลวกแดง งบประมาณรวม 730 ล้านบาท ประกอบด้วย พื้นที่จัดการน้ำเสียเร่งด่วนลำดับที่ 1 ก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย ตำบลมาบยางพร ใช้งบประมาณ 380 ล้านบาท คาดว่าจะเริมก่อสร้างได้ในปี 2563 พื้นที่จัดการน้ำเสียเร่งด่วนลำดับที่ 2 ก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียตำบลปลวกแดง ใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2564
2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง ใช้งบประมาณรวม 1,579 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่ม 3 พื้นที่ ได้แก่
พื้นที่จัดการน้ำเสียเร่งด่วนลำดับที่ 1 เทศบาลนครระยอง จะดำเนินการวางแนวท่อรวบรวมและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้งบประมาณ 804 ล้านบาท
พื้นที่จัดการน้ำเสียเร่งด่วนลำดับที่ 2 เทศบาลเมืองมาบตาพุด จะวางแนวท่อรวบรวมน้ำเสียและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้งบประมาณ 405 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2564–2565
พื้นที่จัดการน้ำเสียเร่งด่วนลำดับที่ 3 เทศบาลเมืองบ้านฉาง จะเป็นการวางแนวท่อรวบรวมน้ำเสีย และก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้งบประมาณ 370 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565–2566
สำหรับโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมบำบัดน้ำเสียรวมจังหวัดระยอง มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างระบบเป็นของเทศบาลแต่ละแห่ง และที่ปรึกษาได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไว้เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้หากโครงการนี้แล้วเสร็จน้ำเสียที่เกิดขึ้นจะได้รับการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับประโยชน์มากกว่า 350,000 คน รวมทั้งยังเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการยกระดับจังหวัดระยองสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้งบประมาณในการดำเนินงานได้ขอผ่าน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูง และยังเป็นโครงการที่รองรับการเติบโตของ อีอีซี ที่มีความสำคัญสูงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งควรจะต้องเร่งอนุมัติงบประมาณอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตชองชุมชนและเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว หากล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การดำเนินงานนั้นจะจ้างองค์การจัดการน้ำเสีย หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งในปีแรก อบจ.ระยองจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าบริหารจัดการทั้งหมด หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 50% ให้ในพื้นที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบจัดทำข้อบัญญัติจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากชุมชน
หลังจากนั้นจะทยอยผ่องถ่ายให้ชุมชนเข้ามารับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะดำเนินการได้ในระยะยาว หากจัดเก็บจากท้องถิ่นได้ไม่เพียงพอเทศบาลก็ต้องจัดหางบประมาณมาดำเนินงาน เพราะเป็นโครงการที่จำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน
SOURCE : www.bangkokbiznews.com