สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 มีผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดลงที่ การนำเข้าของสหรัฐฯจากจีน มีสัดส่วนลดลงจาก 21.84% ในปี 60 (ก่อนเกิดสงครามการค้า) มาเป็น 18.39% ในปี 62 ขณะที่การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนลดลงจาก8.41% ในปี 60 เป็น 5.95% ในปี 62

ซึ่งปัญหานี้มีผลกระทบต่อเนื่องประเทศอื่นๆรวมถึงประเทศไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจีน เห็นได้จากความต้องการสินค้าไทยของจีนและประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หดตัวชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาตรการส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ และจีนมีผลบังคับใช้

        สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 61 เติบโต 5.5%, ในปี 62 เติบโต 11.8% และครึ่งแรกของปี 63 เติบโต 2.5% ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 63 การส่งออกจากไทยไปจีนและประเทศในห่วงโซ่การผลิตจีน เช่น ฮ่องกง กลับมาขยายตัวที่ 5.8% และ 1.4% ตามลำดับ สะท้อนว่าผลของสงครามการค้าได้เบาลง ผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น

       จากข้อมูล แสดงว่าไทยปรับตัวรับมือกับสงครามการค้าได้ดี และใช้โอกาสนี้เป็นผู้ส่งออกสินค้าทดแทนให้ทั้งสหรัฐฯ และจีน ทำให้สินค้าไทยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น และนักลงทุนสหรัฐฯ-จีน ยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้การที่สหรัฐฯและจีน ต้องปรับโครงสร้างการค้าหาแหล่งนำเข้าใหม่ ทำให้ไทยได้โอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า สามารถส่งออกสินค้าทดแทนได้มากขึ้นทำให้ส่วนแบ่งของไทยในตลาดสหรัฐฯ และจีน เพิ่มขึ้น โดยในปี 61 สินค้าไทยครองส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จาก 1.26% เป็น 1.34% ในปี 62 และเป็น 1.63% ในช่วงครึ่งแรกปี 63

ขณะที่ในปี 61 ส่วนแบ่งในตลาดจีนก็เพิ่มขึ้น 2.13% เป็น 2.23% ในปี 62 และเพิ่มขึ้นถึง 2.42% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63

:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::

 

     

       สงครามการค้า ยังทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน (Investment Diversion) หลายรูปแบบ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในไทยที่เติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงครามการค้า

       ก่อนมีสงครามการค้า (ปี 2560) มูลค่าขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่หลังจากมีสงครามการค้า (ปี 2561 และ 2562) มูลค่าขอรับการส่งเสริมอยู่ที่ประมาณ 5.1 – 5.4 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2561 (คิดเป็น 57% ของเงินลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด) ขณะที่จีนเป็นผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในปี 2562 (คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด)

       กระแสการย้ายฐานการลงทุนที่เกิดขึ้น ยังช่วยส่งเสริมการส่งออกไทย แม้มูลค่าจะยังไม่มาก แต่เห็นแนวโน้มที่บริษัทต่างชาติหลายรายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 61 จากเดิมที่ไม่ส่งออกเลยหรือการส่งออกหดตัว

       ดังนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอานาจ ยังเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถการค้าไทยในอนาคต ทั้งจากนักลงทุนสหรัฐฯ และจีน รวมถึงนักลงทุนประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะยังคงลงทุนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศักยภาพ รวมถึงไทยด้วย

 

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์